PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : CS-52000-00004

ชุมชนท่ามะโอ
Tha Ma-O Community

ชุมชนท่ามะโอเป็นชุมชมเก่าแก่ที่มีบรรยากาศแห่งความรื่นรมย์ตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่านครลำปาง ชื่อของ “ท่ามะโอ” มีข้อสันนิษฐานอยู่ 2 ทาง ทางแรกหมายถึง ท่าน้ำที่มีการปลูกส้มโอกันมาก เนื่องจากบริเวณนั้นมีสถานที่ในชื่อคล้ายคลึงกัน เช่น ท่าเก๊าม่วง (ท่าต้นมะม่วง) อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งบอกว่า “มะโอ” เป็นคำเพี้ยนมาจาก “ปะโอ” ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) พบว่า ชาวพม่าที่มีเชื้อสายปะโอจำนวนหนึ่งได้เข้ามาประกอบอาชีพทำป่าไม้เมื่อกว่า 150 ปีมาแล้วและมาตั้งรกรากในชุมชนท่ามะโอ ท่ามะโอถือเป็นย่านเก่าของชาวพม่าที่เข้ามาประกอบอาชีพทำป่าไม้เมื่อกว่า 150 ปีมาแล้ว พบว่ามีวัดท่ามะโอ และบ้านไม้เก่าแก่ที่สวยงามอยู่หลายหลัง เช่น บ้านเสานัก บ้านหลุยส์ เป็นต้น ปัจจุบันชุมชนท่ามะโอเป็นชุมชนด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ ถนนสายวัฒนธรรมเป็นชื่อเรียกในเชิงการท่องเที่ยวของถนนคนเดินที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ราว 10 ปีที่ผ่านมาโดยเป็นถนนคนเดินในช่วงของเย็นวันศุกร์เกิดขึ้นท่ามกลางการท่องเที่ยวในกระแสโหยหาอดีต ในเวลาที่ไล่เลี่ยกับการเกิดกองกองต้า ถนนคนเดินที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของเมืองลำปาง เป็นการริเริ่มของชาวชุมชนท่ามะโอเพื่อใช้พื้นที่นี้เป็นแหล่งพบปะ จำหน่ายสินค้าและแสดงงานทางวัฒนธรรมของชุมชน ในระยะแรกยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ในปัจจุบันถนนสายวัฒนธรรมของชุมชมท่ามะโอได้กลายเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและจำหน่ายสินค้าของผู้คนในตัวเมืองลำปาง ถนนสายวัฒนธรรมแห่งนี้จัดขึ้นบนถนนป่าไม้ ในตำบลเวียงเหนือซึ่งมีกู้เจ้าย่าสุตตา (ซุ้มประตูโขงของวัดกากแก้ว) เป็นจุดหมายที่น่าสนใจของถนนแห่งนี้ ความโดดเด่นของถนนสายวัฒนธรรมคือสินค้าที่นำมาขายเป็นพืชผักพื้นบ้านและอาหารพื้นเมืองในท้องถิ่นที่หลากหลายให้เลือกซื้อ นอกจากนี้ยังมีอาหารหวานคาวโดยทั่วไปให้ซื้อในบรรยากาศยามค่ำของทุกวันศุกร์ที่ให้ผู้คนและนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมและพักผ่อน ในถนนสายวัฒนธรรมยังมีสถานที่โดดเด่นเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายภาพกันมากคือ กู่เจ้าย่าสุตตา เป็นชื่อเรียกของซุ้มประตูโขงของวัดกากแก้วซึ่งเป็นวัดร้าง ในที่นี้กู่มิได้หมายถึงสถูปสำหรับการบรรจุกระดูกของมนุษย์แต่อย่างใด แม้ว่าจะมีความเชื่อของชาวบ้านอยู่บ้างตามตำนาน แต่ยังไม่เป็นที่เข้าใจและมีหลักฐานชัดเจน กรมศิลปากรได้มาทำการบูรณะและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน กู่เจ้าย่าสุตตาเป็นซุ้มประตูโขงขนาดกลางที่มีความสวยงาม สะท้อนถึงความเป็นวัดที่สำคัญของชุมชน มีลายปูนปั้นรูปเทวดา และลายไม้ดอกแบบล้านนาซึ่งคล้ายคลึงกับลายปูนปั้นของวิหารในวัดเจ็ดยอดที่เมืองเชียงใหม่อันเป็นต้นแบบของอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ กู่เจ้าย่าสุตตาเป็นโบราณสถานที่โดดเด่นและเป็นสัญลักษณ์สำคัญของถนนสายวัฒนธรรมแห่งนี้



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องไม่ได้ : InTangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

พื้นที่วัฒนธรรม : CS : Cultural Space พื้นที่วัฒนธรรมที่เป็นพื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้น
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : ชุมชนท่ามะโอ ต. เวียงเหนือ อ. เมืองลำปาง จ. ลำปาง 52000

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

นายประทีป เมืองแก่น ประธานชุมชนท่ามะโอ

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

0819509098

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

อาจารย์อัคค์สัจจา ดวงสุภาสิญจ์ : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา : 2566 Open Call


มีผู้เข้าชมจำนวน :134 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 14/03/2024 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 06/06/2024