บ้านหลุยส์ หรือบริษัทหลุยส์ ทีเลียวโอโนเวนส์ จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทที่ทำธุรกิจป่าไม้ ของต่างประเทศซึ่งมาตั้งอยู่ในเมืองนครลำปาง บริษัทหลุยส์ ทีเลียวโอโนเวนส์ จำกัด ตามประวัตินั้นเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วเมืองลำปางเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมป่าไม้ที่สำคัญของภาคเหนือ ได้มีบริษัทป่าไม้จากต่างประเทศหลายแห่งเข้ามาทำธุรกิจในเมืองลำปาง หนึ่งในนั้นก็คือ บริษ้ทหลุยส์ ทีเลียวโอโนเวนส์ จำกัดซึ่งมีนายหลุยส์ ทีเลียวโอโนเวนส์ (Louis T. Leonowens, 1856-1919) เป็นผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลุยส์ฯ นั้นแยกตัวมาจากบริษัทบริติชบอร์เนียว จำกัด และมีสำนักงานสาขาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่ บริษัทหลุยส์ในเมืองลำปางจัดว่าเป็นสาขาที่มีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากเป็นพื้นที่ของการสัมปทานป่าไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ นายหลุยส์ ทีเลียวโอโนเวนส์ หรือชาวลำปางเรียกว่า “พ่อเลี้ยงหลุยส์” หรือ “มิสเตอร์หลุยส์” เป็นชาวต่างประเทศที่มีชื่อเสียงในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 นอกเหนือจากเป็นนักธุรกิจด้านป่าไม้ยังเป็นพระสหายร่วมชั้นเรียนภาษาอังกฤษกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมีมารดาของนายหลุยส์ ชื่อ “นางแอนนา ทีเลียวโอโนเวนส์” หรือรู้จักกันในนามของ “แหม่มแอนนา” เป็นครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสยามซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ว่าจ้างให้มาสอนภาษาอังกฤษให้แก่พระราชโอรส พระราชธิดาและเจ้านายต่าง ๆ ในราชสำนักสยาม นายหลุยส์ได้เข้ามาทำอาชีพธุรกิจป่าไม้ในพื้นที่ภาคเหนือ และเดินทางไปในท้องที่ต่าง ๆ ในสยาม มาพำนักที่บริษัทหลุยส์ฯ สาขาลำปาง หรือชาวชุมชนท่ามะโอเรียกกันในภายหลังว่า “บ้านหลุยส์”บ้านหลุยส์จึงเป็นทั้งสำนักงานป่าไม้และบ้านพักในตัวเอง โดยชั้นบนใช้เป็นบ้านพักของผู้จัดการบริษัทส่วนชั้นล่างเป็นสำนักงานธุรการ จนกระทั่งเมื่อเริ่มเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2484 ผู้จัดการบริษัทซึ่งเป็นชาวอังกฤษและผู้เกี่ยวข้องที่เป็นชาวต่างประเทศทั้งหมดต้องลี้ภัยหนีออกจากประเทศไทยทำให้สำนักงานบริษัทแห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้าง และต่อมากลายเป็นทรัพย์สินขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) โดยใช้เป็นบ้านพักของพนักงานมาเป็นเวลากว่า 50 ปี ในภายหลังจังหวัดลำปางและชุมชนท่ามะโอได้เห็นความสำคัญของบ้านเก่าที่ทรงคุณค่าและมีสถาปัตยกรรมครี่งตึกครึ่งไม้ศิลปะผสมผสานไทยกับตะวันตกที่งดงาม แปลกตา นำไปสู่การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวจึงได้ประสานงานกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้ขอใช้พื้นที่มาจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในชื่อ “ท่ามะโอ เรโทรแฟร์” มีการจัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรม การแสดงดนตรีร่วมสมัย กิจกรรมสำหรับเด็ก การจำหน่ายสินค้าของชุมชน มีบริการรถรางนำเที่ยวชมเมืองเก่านครลำปาง เป็นต้น โดยมีการเปิดชั้นล่างของบ้านหลุยส์จัดเป็นนิทรรศการถ่ายภาพเก่า และภาพวาดเกี่ยวกับบ้านหลุยส์และชีวิตของฝรั่งทำป่าไม้ในลำปาง กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน การจัดกิจกรรมท่ามะโอเรโทรแฟร์ แม้ว่าจะเป็นช่วงระยเวลาหนึ่ง แต่ก็ทำให้ให้บ้านหลุยส์ที่เคยเป็นที่รู้จักเฉพาะคนในชุมชนท่ามะโอเท่านั้น ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งคนลำปางและนักท่องเที่ยวทั่วไปอยากจะมาเยี่ยมชมเมื่อเดินทางมาเยือนเมืองลำปาง
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
สถาปัตยกรรม : AR : ARchitecture ร้านค้าและเคหสถาน
.
เลขที่ : ถนนป่าไม้ ชุมชนท่ามะโอ ต. เวียงเหนือ อ. เมืองลำปาง จ. ลำปาง 52000
อาจารย์อัคค์สัจจา ดวงสุภาสิญจ์ : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา : 2566 Open Call