วัดปราสาทเยอเหนือ เป็นวัดโบราณมีอายุเก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษหรือจังหวัดขุขันธ์ ในอดีต วัดแห่งนี้ได้รับการก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 1313 หรือราวต้นพุทธศตวรรษที่ 14 ตั้งแต่สมัยทวารวดีและสมัยขอม อันเป็นช่วงเวลาก่อนการตั้งเมืองศรีนครลำดวน (ต้นเค้าเมืองขุขันธ์ที่พัฒนามาเป็นจังหวัดขุขันธ์และจังหวัดศรีสะเกษ) ใน พ.ศ. 2302 ถึง 989 ปี ปัจจุบัน ภายในวัดยังคงปรากฏซากปราสาทหินสมัยขอมซึ่งมีสภาพชำรุดมากแล้วคือ ปราสาทเยอ วัดปราสาทเยอเหนือ ยังเป็นวัดแห่งแรกที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเพื่อนมัสการพระครูประสาธน์ขันธคุณ และทรงทอดพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์หรือกฐินต้นถวาย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2514 ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ให้กับทางราชการ เพื่อสร้าง ศาลา ภ.ป.ร. ถวาย ทดแทนศาลาวัดหลังเดิมที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม เหล่าพสกนิกรชาวจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จ ทั้งสองพระองค์ อย่างล้นหลามเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางสายฝนที่โปรยลงมาอย่างหนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรท่ามกลางสายฝนเช่นเดียวกัน ยังความปลาบปลื้มยินดีแก่พสกนิกรอย่างล้นพ้น นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของจังหวัดศรีสะเกษ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานกฐินต้นในจังหวัด และวัดปราสาทเยอเหนือก็เป็นวัดแรกที่ทรงพระราชทานกฐินต้นอีกด้วย ปราสาทเยอ (อโรคยาศาลโบราณ) เป็นปราสาทเดี่ยวที่ยังคงเห็นเป็นรูปปรางค์ปราสาทอยู่ ก่อด้วยอิฐฝนผิวเรียบไม่สอปูนทั้งหลังตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงมีกรอบประตูศิลาทรายขนาดใหญ่มีทับหลังสวยงามมากและยังไม่พังลงมา ต่อมามีพวกค้าโบราณวัตถุมาแอบชโมยขุดค้นหาวัตถุโบราณ จึงทำให้ปราสาทอิฐพังถล่มลงมา ปัจจุบันมีสภาพชำรุดหักพังเป็นกองอิฐและทับหลังศิลาทราย ลักษณะด้านศิลปะการก่อสร้าง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละประมาณ 3 เมตร สูงประมาณ 4.50 เมตร เหลือเพียงกรอบประตูศิลาทราย ทางเข้าด้านทิศตะวันออก 2 ประตู เหนือกรอบประตูด้านในมีทับหลังศิลาทรายสลักเป็นรูปบุคคลนั่งเหนือเกียรติมุขซึ่งกำลังคาย ท่อนพวงมาลัยออกมาทั้งสองข้างมีพวงอุบะและใบไม้ม้วนทับหลังอีกชิ้นหนึ่ง ตั้งอยู่หน้าวงกบประตูสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัน สันนิษฐานว่าเป็นประตูมุขก่อยื่นออกมาจากองค์ปรางค์ สร้างในราว พ.ศ. 1550 – 1650 ปัจจุบันมีสภาพเป็นมูลดิบมีเศษอิฐศิลาทรายและศิลาแลงมีทับหลังสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณและเทวดานั่งในเรือนซุ้มเหนือเศียรเกียรติมุข อยู่ 2 ชั้น
จับต้องได้ : Tangible.
โบราณสถาน : AS : Archeological Site ย่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
.
ธีรพงศ์ สงผัด
-
นางจุฑามณี รุ้งแก้ว : มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ : 2566 Open Call