พระพุทธเจดีย์ไพรบึง หรือที่ชาวไพรบึงโดยทั่วไปเรียกว่า พระธาตุไพรบึง ประดิษฐานอยู่ภายในวัดไพรบึง(วัดจำปาสุรภีย์) อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลไพรบึงทางตอนเหนือ ใกล้กับสวนสาธารณะบึงนกเป็ดน้ำไพรบึง เป็นพระธาตุเจดีย์สำคัญของจังหวัดศรีสะเกษ มีขนาดสูงใหญ่ ความสูงจากฐานถึงยอดฉัตร ประมาณ 60 เมตร สร้างขึ้นตามรูปแบบศิลปะอินเดีย แบบเจดีย์ พุทธคยา ส่วนยอดฉัตรด้านบนสุดของพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งอัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย พระพุทธเจดีย์องค์นี้จึงถือเป็นมรดกทางพุทธศาสนา อันเป็นปูชนียสถานที่เคารพสักการะมากที่สุดแห่งหนึ่งของชาวจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง อนึ่ง วัดไพรบึง เป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุตั้งแต่ พ.ศ.2100 องค์พระพุทธเจดีย์ไพรบึงใช้รูปแบบดัดแปลงมาจากเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย ประกอบด้วยส่วนฐานพระเจดีย์ ส่วนองค์พระเจดีย์ ส่วนยอดพระเจดีย์ และ ฉัตรทองคำ ฐานพระเจดีย์ ส่วนฐานก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มีลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 9 เมตร ตกแต่งด้วยลวดลายปูปั้นโดยรอบ โดยลวดลายบริเวณด้านล่างสุดของฐานเป็นรูปเหล่ายักษ์แบก (บรรณกยักษ์) คอยปกป้องฐานพระพุทธเจดีย์ กรอบประตูแต่ละด้านทั้งสี่ด้าน ตกแต่งด้วยลายกนกและลายพรรณพฤกษา ตลอดจนประติมากรรมนูนต่ำรูปทวารบาล ประจำประตูทุกด้าน ด้านละ 2 ตน องค์พระเจดีย์ ส่วนเรือนธาตุหรือองค์พระเจดีย์ มีความสูงประมาณ 40 เมตร ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นทรงบัวเหลี่ยม ฐานป้านแล้วสอบขึ้นไปหาส่วนยอด อันเป็นรูปแบบคล้ายกับเจดีย์พุทธคยา ส่วนปลายใกล้กับฐานฉัตรคอนกรีต ประดับด้วยลายปูนปั้นรูปกลีบบัวคว่ำทรงเรียวยาวโดยรอบท้งสี่ด้าน กรอบกลีบบัวแต่ละกลีบตกแต่งด้วยลายกนก ยอดพระเจดีย์ ส่วนยอด เหนือปลายสุดของส่วนเรือนธาตุหรือองค์พระเจดีย์ ก่อสร้างเป็นฐานฉัตร 3 ชั้น ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ก่อด้วยคอนกรีต ทาสีเหลืองอมเขียว ถัดจากฐานฉัตรคอนกรีต เป็นกรวยแหลมที่มีแกนในเป็นเหล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว หุ้มด้วยคอนกรีต ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปกลีบบัวคว่ำ-บัวหงาย ทรงเรียวยาว แกนในที่เป็นท่อเหล็กดังกล่าว คือส่วนรองรับก้าน(ขา) ของฉัตรทองคำ ฉัตรทองคำ เป็นส่วนสูงสุด ทำจากโลหะลงรักปิดด้วยทองคำ มีรูปทรงเป็นฉัตรทรงกลม 4 ชั้น ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ฉัตรชั้นล่างสุดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 150 เซนติเมตร ส่วนปลายแหลมซึ่งเป็นส่วนสูงสุดของฉัตร ทาด้วยสีแดงเข้ม ตกแต่งด้วยลายกนก ลงรักปิดทองคำเปลวบริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักทั้งหมดประมาณ 20 กิโลกรัม ได้รับการอุทิศถวายโดยคุณหญิงฉอเลาะ ศิริสัมพันธ์ ทั้งนี้ ก่อนการยกยอดฉัตรทองคำขึ้นประดิษฐาน ได้มีพิธีพุทธาภิเษกสมโภชน์ 1 คืน ในคืนวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2524 และรุ่งเช้าวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2524 จึงได้มีพิธียกยอดฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือส่วนบนสุดของพระพุทธเจดีย์
จับต้องได้ : Tangible.
โบราณสถาน : AS : Archeological Site ย่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
.
เลขที่ : ต. ไพรบึง อ. ไพรบึง จ. ศรีสะเกษ 33180
ธีรพงศ์ สงผัด
นางจุฑามณี รุ้งแก้ว : มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ : 2566 Open Call