ตั้งอยู่เลขที่ 142 หมู่ 15 บ้านไพรบึง ตำบลไพรบึง อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ประวัติวัดไพรบึงไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดเป็นที่แน่นอน แต่ได้มีการจดบันทึกไว้พอเป็นสังเขปโดยส่วนมากได้ จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุที่เล่าต่อๆกันมาเอาความแน่นอนไม่ได้ แต่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าตามตำนานเมืองขุขันธ์ เมื่อประมาณพ.ศ. 2100 ทางเจ้าเมืองขุขันธ์ได้ขอกำลังจากเมืองจำปาสักมาช่วยรบปราบกบฏ (เมืองจำปาสักก็คือแขวงจำปาสัก ของประเทศลาว ในปัจจุบัน)ทางเจ้าเมืองจำปาสักได้จัดทัพมาช่วยรบโดยมีท่านจำปาและท่านสุเภียเป็นผู้นำทัพ ซึ่งการยกทัพออกรบในสมัยนั้นนิยมไปทั้งครอบครัว โดยได้ใช้เส้นทางเดินทัพทาง ทางช้างเผือกผ่านเมืองน้ำอ้อม(อำเภอกันทราลักษ์) เมื่อเดินทัพมาถึงบริเวณที่ตั้งของหมู่ 15 บ้านไพรบึง ตำบลไพรบึง (ในปัจจุบัน) ก็ได้รับแจ้งข่าวจากเมืองขุขันธ์ว่าการรบได้รับชัยชนะแล้ว ผู้นำทั้งสองจึงสั่งหยุดเคลื่อนทัพและได้พิจารณาเห็นว่าบริเวณนี้มีทำเลที่ตั้งอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การตั้งหมู่บ้าน ท่านผู้นำทั้งสองจึงตัดสินใจพาชาวบ้านลงหลักปักฐานสร้างหมู่บ้านในบริเวณนี้ อาณาเขตด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดหมู่บ้านชาวส่วย ซึ่งเป็นหมู่บ้านร้างเพราะชาวส่วยในหมู่บ้านนี้ก็ได้ถูกเกณฑ์ไปช่วยรบในการศึกครั้งนี้เช่นกัน (ไปทั้งครอบครัวทั้งหมู่บ้านและได้ละทิ้งหมู่บ้านไป) ด้านทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือติดหนองไพรบึง ด้านทิศตะวันออกและทิศใต้เป็นป่า ชื่อหมู่บ้าน แปร็ยเบิง มีที่มาจาก แปร็ย คือต้นปรือ อยู่ในหนองไพรบึงด้านทิศเหนือ ส่วนคำว่า เบิง คือ ต้นบึง ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในหนองไพรบึง หลังจากสร้างหมู่บ้าน ผู้นำทัพทั้งสองได้เห็นความจำเป็นว่าด้านพิธีกรรมทางศาสนา ควรมีผู้นำด้านศาสนาและพระภิกษุสงฆ์ โดยท่านจำปาประชุมปรึษาพิจารณาเห็นควรว่า ท่านสุเภียมีความเฉลียวฉลาดและสุขุมรอบครอบ จึงได้ขอให้ท่านบวชเป็นพระเป็นผู้นำฝ่ายสงฆ์ ส่วนท่านจำปาจะเป็นผู้นำฝ่ายฆราวาส ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านชาวส่วยมีวัดร้าง บริเวณนี้ชาวไพรบึงโบราณเรียกว่า กุไดจ๊ะ (กฏิเก่า) การสร้างวัดของชาวไพรบึงในครั้งแรกกำหนดสร้างวัดชั่วคราวตรงบริเวณตอนกลางของหมู่ 8 ของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแหล่งที่นำดินทำอิฐเพื่อสร้างอุโบสถ โดยขุดดินบริเวณทิศใต้ศาลาประชาคมหมู่ที่ 8 บ้านไพรบึง ตำบลไพรบึง (ในปัจจุบัน) จนบริเวณนี้มีน้ำขังตลอดทั้งปี จึงได้สร้างวิหารกลางน้ำ เพื่อใช้ประกอบพิธีลงอุโบสถสังฆกรรมเป็นเวลาหลายปี ชาวไพรบึงโบราณเรียกบริเวณนี้ว่า ตะเปียงเซ็ม (ตะเปียง แปลว่า หนองน้ำ เซ็ม แปลว่า สีมา) ต่อมาได้ทำการย้ายวัดมาสู่ที่ตั้งปัจจุบัน ณ. เลขที่ 142 หมู่ 15 บ้านไพรบึง ตำบลไพรบึง ทำการสร้างอุโบสถและเสนาสนะต่างๆ (ตำแหน่งอุโบสถในปัจจุบันได้สร้างทับสิมเก่าหรืออุโบสถเดิม) และได้ตั้งชื่อตามผู้นำทั้งสองว่า วัดจำปาสุเภีย ต่อมาได้เรียกแผลงเป็น วัดจำปาสุรภีย์ ชื่อนี้ได้ใช้มาประมาณ 300 ปีเศษ ก็เปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดไพรบึง (เปลี่ยนเมื่อ พ.ศ. 2481 ) เจ้าอาวาสรูปแรก คือ พระอาจารย์ “สุเภีย” ประวัติพระอาจารย์ได้ขาดหายไปและมาปรากฏอีกครั้งเมื่อ พระอาจารย์แก้ว มาเป็นเจ้าอาวาสประมาณ พ.ศ. 2419-2427 ต่อแต่นั้นมาประวัติก็มีมาโดยตลอด ประเพณี ศิลปะและวัฒนธรรม ได้รับอิทธิพลมาจากขอม ภาษาที่ใช้มาช้านานคือ ภาษาขอม ในช่วงหลังได้ลดลงไปที่ยังคงใช้อยู่คือ การเทศน์มหาชาติภาษาขอม เป็นจำทุกปีในวันออกพรรษา วัดไพรบึงมีเจ้าอาวาสสืบต่อกันมาหลายรูปและได้พัฒนาวัดมาจวบจนถึงปัจจุบัน โดยในปัจจุบันมาถึงสมัยของ หลวงพ่อพระครูวาปีคณาภิรักษ์ เป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะอำเภอไพรบึงอีกหนึ่งตำแหน่ง
จับต้องได้ : Tangible.
โบราณสถาน : AS : Archeological Site ย่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
.
เลขที่ : เลขที่ 142 หมู่ 15 บ้านไพรบึง ต. ไพรบึง อ. ไพรบึง จ. ศรีสะเกษ 33180
ธีรพงศ์ สงผัด
นางจุฑามณี รุ้งแก้ว : มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ : 2566 Open Call