คำว่า สะเอง เป็นภาษาส่วย แต่คนลาวจะเรียกว่า สะเอิง มีความหมายเหมือนกันทั้งภาษาลาวและภาษาส่วยแต่จะเรียกต่างกันเท่านั้น ความหมาย คือ ครก คุณยายในอดีตแก่เก่าเล่าสืบต่อกันมา และสืบทอดให้ลูกหลานปฏิบัติสืบต่อกันมาว่า สมัยก่อน มีเครือเถาวัลย์หย่อนลงมาจากเมืองพระยาแถนจนถึงเมืองมนุษย์ เมืองพระยาแถนเป็นเมืองผีพอพลบค่ำชาวเมืองมนุษย์ก็พากันตำข้าวเข็นฝ้าย โดยส่วนมากจะเป็นสาว ๆ ส่วนผีแม่สะเอิงเป็นผู้ชายได้แปลงกายเป็นมนุษย์ ลงมากับเครือเถาวัลย์มาเที่ยวจีบสาวเข็นฝ้ายตำข้าวที่เมืองมนุษย์ ส่วนหนุ่ม ๆ เมืองมนุษย์ก็โกรธ จึงพากันไปตัดเครือเถาวัลย์ทิ้งเสีย ทำให้ผีเมืองพระยาแถนกลับขึ้นมาไม่ได้ จึงโกรธแค้นมนุษย์บันดาลให้มนุษย์เกิดอาการเจ็บป่วยเป็นไข้ต่าง ๆ นานา รักษาอย่างไรก็ไม่หาย ชาวเมืองจึงให้โหนมาทำนายดูว่า เกิดจากสาเหตุอะไร ทำให้ทราบความจริงว่า เกิดจากผีแม่สะเอิงทำ เพราะโกรธแค้นที่มีคนไปตัดเครือเถาวัลย์ทิ้ง ชาวบ้านจึงแต่งเครื่องเซ่นไหว้ให้เขาอยู่เขาจะได้มาสิงที่ตัวคนป่วยให้เป็นตัวของเขาเอง และหายจากความเจ็บป่วย และเมื่อถึงเวลาเดือนสามให้แต่งเครื่องสังเวยให้เขาและมีร่างทรงให้เขาด้วยพร้อมทั้ง มีเครื่องดนตรีประกอบคือ โทน แคน เพื่อผีแม่สะเอิงจะเข้าสิงร่างทรงได้ทำรำฟ้อน รำต่าง ๆ ที่เขายากจะรำ และชาวบ้าน ได้ทำให้เขา คนที่เจ็บไข้ก็จะหายจริง ๆ จึงได้ถือปฏิบัติกันมาเสียจนถึงปัจจุบันนี้ เหตุที่เรียกว่าแม่สะเอิงนั้นเวลาเขาสิงร่าง คนนั้น เราจะเอาอะไรให้เขาก็ไม่เอา นอกจากสะเอิง หรือครกตำพริกให้ร่างทรงจับ และออกจากร่างทรงนั้นไป และทำให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข แต่ก่อนพิธีกรรมรำแม่สะเอง จะตั้งร้านที่ทำด้วยต้นกล้วยและทำเป็นขั้นด้วยไม้ไผ่สาน มีเหล้าขาว บุหรี่ หมากพลู ธูปเทียน ข้าวสาร ข้าวต้มมัด กล้วยเป็นเครือบวงสรวง มีดนตรีประกอบคือ ซุง (ซึง) ฉิ่ง กลอง แคน มีคนทรงเป็นผู้ขับร้อง และลุกขึ้นรำพร้อมกับเดินไปรอบ ๆ วง ท่ารำมีทั้งท่านั่งรำ ยืนรำ เดินรำไปตามจังหวะและทำนองเพลง คำร้องเป็นการร้องอ้อนวอนจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาช่วยรักษาหมู่บ้าน ชาวบ้าน ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ให้มีแต่ความอุดมสมบูรณ์เกิดขึ้นในหมู่บ้านตลอดไป รำสะเอง เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวศรีสะเกษทีมีเชื้อสายกูย (ส่วย) มาจากความเชื่อในการพึ่งพาสิ่งลี้ลับของธรรมชาติในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะวิญญาณของบรรพบุรุษ เทวดาที่อยู่บนฟ้า เพื่อขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษมาปกปักรักษาผ่านร่างทรงของแม่สะเอง หรือการแก้บนที่ทำไว้เมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเมื่อมีเหตุสำคัญที่ต้องอาศัยกำลังใจจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชาวกูย (ส่วย) จะมีเชื้อสะเองแฝงอยู่ในร่างกาย และยกให้เป็นมรดกตกทอด ซึ่งมีตกแก่ลูกสาว คนโตของครอบครัวไปเป็นทอด ๆ การรำสะเองมักกระทำในเดือนสาม เพราะพืชผลในไร่นาเก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว เจ้าภาพที่จัดงานเตรียมพร้อม โดยการบอกเหล่าญาติพี่น้องทั้งใกล้และไกลมารวมกัน ตามวันที่กำหนด จัดทำปะรำพิธี ชั้นวางเครื่องเซ่นไหว้ เก็บดอก จำปา (ลั่นทม) มาร้อยมาลัย ถ้าไม่มีก็ใช้ดอกจานแทน เตรียมด้าย ใบตองกล้วย ทำขันเบ็ง และกรวยดอกไม้ เทียนเหลือง เทียนขาว ข้าวตอกแตก บางแห่งมีเครื่องยกครูที่จัดไว้ในปะรำพิธี เรียกว่า เสาโฮง (เสาบายมือ) ที่ประกอบไปด้วยข้าวต้มมัด ฝ้าย กล้วยน้ำว้า ผ้าไหม ข้าวสาร เงิน ๑๒ บาท สุราขาว ๑ ขวด ธูป เทียน กรวย ๓๒ กรวย พานหมาก พลู บุหรี่ น้ำหอม การรำแม่สะเอง จะปฏิบัติกันในเดือนสามของทุกปีเท่านั้นโดยจะทำกันเป็นกลุ่มมีร่างทรงประมาณ ๑๐-๒๐ คน ต่อกลุ่มคนที่จะเป็นร่างทรงได้นั้น ส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บปวดก่อน และให้โหนทำนายดูถ้ารู้ว่ามีแม่สะเองอยากจะเขาสิงร่างเพื่อทำกายร่ายรำ ก็จะแต่งเครื่องสังเวยได้ทำพิธีให้แม่สะเองเข้าสิง ถ้ามีแม่สะเองเข้าสิงอาการป่วยก็จะหาย และถ้าถึงเดือนสามของทุกปี ก็จะแต่งเครื่องสังเวยให้ผีแม่สะเองสิงร่างเพื่อร่ายรำต่อไป ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน นั้นๆ เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวศรีสะเกษทีมีเชื้อสายกูย มาจากความเชื่อในการ พึ่งพาสิ่งลี้ลับของธรรมชาติในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะวิญญาณของบรรพบุรุษ เทวดาที่อยู่บนฟ้า เพื่อขอพร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษมาปกปักรักษา ผ่านร่างทรงของแม่สะเองหรือการแก้บนที่ทำไว้เมื่อยาม เจ็บไข้ได้ป่วย หรือเมื่อมีเหตุสำคัญ ที่ต้องอาศัยกำลังใจจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรมนี้สะท้อนให้เห็น ถึงความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้าน ปลูกฝังคุณธรรม ให้ลูกหายรู้จัดเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ปฏิบัติตามประเพณีที่ดีงาม
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
ศิลปะการแสดง : PA : Performing Arts ดนตรี
นาฏศิลป์และการละคร
.
เลขที่ : บ้านโพง ต. ไพรบึง อ. ไพรบึง จ. ศรีสะเกษ 33180
ธีรพงศ์ สงผัด
นางจุฑามณี รุ้งแก้ว : มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ : 2566 Open Call