ป่าดงภูดิน เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองแค มีจำนวนเนื้อที่ ๕,๑๐๐ ไร่ "ดงภูดิน" เป็นเนินเขาเตี้ยๆ ริมลำน้ำมูล อยู่ห่างจากตัวอำเภอราษีไศลไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว ๑๐ กิโลเมตร เป็นศูนย์รวมความเชื่อของคนแห่งลุ่มน้ำมูลตอนกลาง บริเวณกลางป่าติดลำน้ำมูลเป็นสถานที่ตั้งศาลเจ้าปู่เล็กๆ ที่ชาวลุ่มน้ำมูลขนานนามว่า "เจ้าพ่อดงภูดิน" แล้วยังมีกลุ่มเจ้าพ่อ เจ้าแม่ในป่า ที่ชาวบ้านนับถืออีกถึง ๒๐ ตน แต่ละปีจะมีการเลี้ยงผีปู่ตา ๒ ครั้ง เลี้ยงขึ้นในช่วงเดือนห้า และเลี้ยงลงในช่วงเดือนสิบเอ็ด มีการแข่งเรือในลำน้ำมูลทุกปี เรือแข่งก็จะต้องมาแข่งขันให้เจ้าพ่อดงภูดินได้ชม เป็นการประเดิมเริ่มแรกก่อน ศาลเจ้าพ่อดงภูดิน ดงภูดิน เป็นดงขนาดใหญ่ เป็นทวารเข้าสู่เมืองราษีไศลด้านทิศตะวันตก เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นรอยต่อที่ลุ่มน้ำเสียวและลำน้ำมูลมาบรรจบกัน หากพิจารณาจากภาพมุมสูงจะเห็นเป็นเหมือน “รอยยิ้ม” ที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนเมืองราษีไศล ซึ่งภายในดงหนาทึบริมแม่น้ำมูล เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อดงภูดิน เจ้าพ่อหรือเทวาผู้เป็นใหญ่แห่งลุ่มน้ำมูลตอนล่าง โดยในช่วงก่อนการแข่งเรือยาวทุกครั้งจะต้องมีการเซ่นสรวงบูชาผ่านเฒ่าจ้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลในการแข่งเรือหรือล่องเรือนั่นเองด้านทิศตะวันตกของดงภูดินเป็นเนินเขาสูง มองไปจะเห็นสายน้ำมูลทอดยาวคดเคี้ยวมาจากทางทิศตะวันตกมาพบกับลำน้ำเสียว ที่ไหลผ่านจากกลางทุ่งกุลาร้องไห้มาบรรจบกัน ณ ที่แห่งนี้ หากลงเรือล่องลำน้ำมูลจากหน้าเขื่อน ราษีไศลไปตามลำน้ำมูล ก็จะเห็นกลุ่มไม้ยางของป่าดงภูยืนต้นตระหง่าน มองเห็นแต่ไกล พิธีกรรมเซ่นไหว้เจ้าพ่อดงภูดิน พิธีกรรมการเซ่นไหว้เจ้าพ่อดงภูดินและศาลเจ้าพ่อเกษ ซึ่งทั้ง ๒ ศาลเป็นที่เคารพนับถือในชุมชนนี้มาก ในแต่ละปีจะมีการเลี้ยงศาลเจ้าพ่อ ๒ ครั้ง คือ ครั้งที่หนึ่งในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้าตรงกับวันพุธ หรือวันถัด (ก่อนวันสงกรานต์) ครั้งที่สองในวันพุธแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ หรือวันถัดจากวันออกพรรษา เสร็จพิธีภายในนั้นจะมีการปล่อยเรือบวงสรวงหรือพิธีแข่งเรือยาวซึ่งชาวบ้านเล่าว่า หากไม่มีพิธีบวงสรวงในช่วงนี้ก่อนจะนำเรือสรวงไปแข่งที่ไหนไม่ได้มิเช่นนั้นจะเกิดอาเพศตามมา วัตถุประสงค์ของการบวงสรวงศาลเจ้า เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล โดยชาวบ้านมีความเชื่อว่าใครมาทำลายป่าเจ้าพ่อก็จะดลบันดาลให้มีเหตุเภทภัยต่างๆ นับเป็นกุศโลบายที่ชาญฉลาด ซึ่งการที่มีคติ และความเชื่อดังกล่าวและชุมชนยังคงมีความเคารพต่อเจ้าพ่อดงภูดินอยู่นั้น เสมือนกับข้อควรปฏิบัติในการรักษาผืนป่าแห่งนี้ แสดงถึงบทบาทของผีที่ทำหน้าที่ทางสังคมอีกมากมาย ผีได้ทำให้บ้านกลายเป็นบ้าน โดยช่วยยึดโยงสายสัมพันธ์ทางเครือญาติให้สนิทแนบแน่น ผีช่วยทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เพราะในแต่ละชุมชน ล้วนมีผีประจำหมู่บ้านทั้งสิ้น ช่วยคุ้มครองผู้คนในแถบนี้ให้รอดพ้นจากภยันตรายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นภัยจากมนุษย์หรือจากธรรมชาตก็ตาม
จับต้องได้ : Tangible.
พื้นที่วัฒนธรรม : CS : Cultural Space พื้นที่วัฒนธรรมที่เป็นพื้นที่ธรรมชาติ
.
เลขที่ : ป่าสงวนดงภูดิน ต. หนองแค อ. ราษีไศล จ. ศรีสะเกษ 33160
นายกิตติพงศ์ สอนเจริญ
https://www.facebook.com/thingnongnoy/
มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ : มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ : 2567 Festival