ที่บ้านเลขที่ 1/3 หมู่ 2 ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีงานศิลปะการแทงหยวกที่ทรงคุณค่าและนับวันศิลปะการแทงหยวกนี้ เสี่ยงต่อการสูญหายไปจากท้องถิ่น เนื่องมาจากขาดคนที่สืบทอดงานศิลปะด้านนี้ ประกอบกับการว่าจ้างงานแทงหยวกถูกลดบทบาทลง คนจ้างลดลง ทำให้เหลือน้อยลงทุกที่ ครูวินัย โพธิ์เงิน ท่านเป็นอดีตข้าราชการครูกรุงเทพมหานครที่เกษียณราชการแล้ว ด้วยวัย 71 ปี ท่านเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า ท่านเป็นคนพื้นเพบ้านบางโฉลง บริเวณคลองศาลเจ้า ตำบลบางโฉลง ได้รับการสืบทอดงานแทงหยวกนี้มาจากคุณปู่ คือ นายวาส โพธิ์เงิน อดีตกำนันตำบลบางโฉลง โดยเริ่มจากประมาณอายุ 14 ปี ได้ฝึกเป็นลูกมือ โดยคุณปู่ให้ฝึกแกะลายฟันปลา ต่อจากนั้นก็เป็นลูกมือในทีมของคุณปู่มาเรื่อย ๆ และฝึกแกะลายอื่น ๆ ต่อไปจนเริ่มชำนาญ เช่น ลายฟันหนึ่ง ลายฟันสาม ลายฟันห้า ลายรักร้อย ลายก้ามปู ลายกนกเปลว ลายน่องสิงห์และลายประจำยาม ในอดีตตอนที่ท่านเด็ก ๆ ท่านเล่าว่า มีงานชุกมากไม่ได้ขาด โดยเฉพาะช่วงเมษายนแต่ปัจจุบันงานแทงหยวกถูกลดทอนความสำคัญลงไปมาก แทบไม่มีในเห็น ด้วยความรักที่จะเรียนรู้งานศิลปะการแทงหยวก ทำให้ครูวินัย ดัดแปลงนำลวดลายเก่ามาผสมผสานเกิดลวดลายใหม่ที่หลากหลายมากขึ้น คุณครูก็ได้เผยแพร่ความรู้ให้นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจ โดยเป็นวิทยากรพิเศษ ให้หน่วยงานต่าง ๆ มากมาย ใครสนใจสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 0846538162 สำหรับอุปกรณ์ในการงานแทงหยวก ประกอบด้วย 1. มีดที่ใช้ฉลุหยวก เป็นมีดปลายแหลมเล็กเรียว มีความคมทั้งสองด้านทำด้วยลานนาฬิกา หรือใบเลื่อยโลหะ นำมาเจียรและลับให้คม ขนาดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร 2. มีดแรลาย เป็นมีดที่มีขนาดสั้นปลายแหลมมีคมทั้งสองด้าน ขนาดของความยาวใบมีดประมาณ 20-30 เซนติเมตร ความกว้าง 3-4 เซนติเมตร 3. ตอกใช้รัดตรึงหยวก 4. กระดาษสี ใช้กระดาษอังกฤษเป็นกระดาษสีหน้าเดียวเป็นสีต่าง ๆ ด้านหนึ่งเป็นสีขาว มันวาว คล้ายกระดาษตะกั่ว ถูกน้ำแล้วกระดาษจะไม่ยับย่น สีจะไม่ลอก 5. ลวด ใช้สำหรับผูกหรือมัด ลายต้นกล้วย แทนตอกในบางกรณีที่ตอกไม่สามารถแทงให้ฉลุถึงกันได้ 6. เลื่อย ใช้ตัดส่วนที่เกินในการประกอบลายแทงหยวก หรือใช้ตัดต้นกล้วยที่จะนำมาใช้แทงหยวก ศิลปะงานแทงหยวกนั้น ส่วนใหญ่ใช้ประกอบงานพิธี เช่นงานฌาปนกิจเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้วายชนม์ นอกจากนี้ ก็ยังสามารถใช้งานมงคลได้เช่น งานบวช และงานลอยกระทง เป็นต้น คุณครูวินัย โพธิ์เงิน ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญานี้ให้กับทายาทสองท่านคือ นายสุนทร โพธิ์เงิน นายณัฐพงษ์ โพธิ์เงิน และยินดีถ่ายทอดให้บุคคลทั่วไป หากใครสนใจก็สามารถมาเรียนได้โดยตรงกับท่าน ท่านได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมสาขา ช่างฝีมือ (แทงหยวก) จากสภาวัฒนธรรมอำเภอบางพลี เมื่อปี 2545 และได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านการแทงหยวก จากสภาวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี 2559
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
งานช่างฝีมือดั้งเดิม : TC : Traditional Craftsmanship งานศิลปกรรมพื้นบ้าน
.
เลขที่ : เลขที่ 1/3 หมู่ 2 ต. บางโฉลง อ. บางพลี จ. สมุทรปราการ 10540
นายวินัย โพธิ์เงิน
โทร 0846538162
หฤษฏ์ โตพันธุ์ : มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ : 2566 Advance Track