ในอดีตในย่านตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ถ้าบ้านไหนมีงานบุญก็จะประดับตกแต่งพวงมโหตรและประดับตกแต่งกระดาษสี โดยการตัดและการตอกกระดาษเป็นลวดลายต่าง ๆ เพื่อเป็นสีสันของงาน โดยมักจะมีพวงมโหตรอยู่ตรงกลาง มีกระดาษฉัตรตัดเป็นบังแสง บ้างก็ใช้วิธีการตัด วิธีการตอก แล้วแต่ความถนัด โดยจัดทำเป็นลวดลายต่าง ๆ โดยคนสมัยก่อนเห็นว่าจะทำให้บรรยากาศมีสีสันและกระดาษเมื่อต้องลมก็มีเสียงด้วย พวงมโหตร เป็นเครื่องแขวนโบราณของคนไทย ซึ่งใช้ประดับในงานมงคล เช่น งานบวช งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ หรือแม้แต่งานสงกรานต์ก็มี คนในภาคกลางเรียกพวงมโหตร แต่บางท้องถิ่น อาจเรียก ตุงไส้หมู ตำบลบางโฉลง มีคุณครูที่สอนตัดกระดาษเป็นรูปต่าง ๆ และทำพวงมโหตร ท่านชื่อครูวินัย โพธิ์เงิน เป็นข้าราชการครูของกรุงเทพมหานคร ภายหลังเกษียณจากราชการที่โรงเรียนวัดลานบุญ ก็พำนักอยู่ที่บ้านหมู่ 2 คลองศาลเจ้า ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ คุณครูวินัย โพธิ์เงิน ท่านเป็นคนที่เกาะบางโฉลงนี้ ท่านเคยเห็นการประดับตกแต่งพวงมโหตร และกระดาษสีตัดเป็นรูปต่าง ๆ ท่านจึงมีความสนใจ และด้วยความชอบอาศัยครูพักลักจำ ลองผิดลองถูก ประกอบกับมีความรู้เรื่องลวดลายต่าง ๆ ก็ชอบและทำมาจนทำได้ชำนาญ ในอดีตจะมีการตกแต่งพวงมโหตรลักษณะนี้ในทุกงานบุญ โดยมักจะมีพวงมโหตรใหญ่ซึ่งเป็นประธานอยู่ตรงกลางมี 5 ชั้น และมีพวงบริวารอยู่รายรอบ เป็นพวง 3 ชั้น หรือน้อยกว่า โดยใช้กระดาษว่าว กึ่งกระดาษแก้ว ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยรูปทรงของพวงมโหตรจะอ้วนหรือผอม ขึ้นอยู่กับการตัดกระดาษ ถ้าตัดดี ๆ น้ำหนักก็จะห้อยลงมาพอดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศิลปะของแต่ละคน พวงมโหตรนี้ก็จะแขวนไปจนกว่ากระดาษจะขาดไปเอง แต่ต้องไม่ให้ถูกน้ำก็จะอยู่ได้นานพอสมควร
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
งานช่างฝีมือดั้งเดิม : TC : Traditional Craftsmanship งานศิลปกรรมพื้นบ้าน
.
เลขที่ : เลขที่ 1/3 หมู่ที่ 2 ต. บางโฉลง อ. บางพลี จ. สมุทรปราการ 10540
นายวินัย โพธิ์เงิน
โทร 0846538162
หฤษฏ์ โตพันธุ์ : มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ : 2566 Advance Track