จากประวัติศาสตร์คำบอกเล่าของชาวบ้านในท้องถิ่นบางโฉลงและการเทียบเคียงข้อมูลอื่น ๆ สามารถรวบรวมข้อมูลได้ว่า สมัยที่พระอธิการเอี่ยม เจ้าอาวาสวัดบางโฉลงใน รูปที่ 12 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระอธิการเอี่ยมท่านมีภูมิลำเนาเดิมอยู่อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ท่านได้อัญเชิญหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปปางมารวิชัย (ปางสะดุ้งมาร) ขัดสมาธิเพชร ขนาดหน้าตักประมาณ 9 นิ้ว จากจังหวัดพิจิตรมาประดิษฐาน ณ วัดบางโฉลงใน ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทั้งนี้มีความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางมารวิชัย หากตั้งบูชาจะทำให้รอดพ้น แคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากคนหรือจากสัตว์ จากสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น จากการเทียบเคียงพุทธลักษณะและจากคำบอกเล่าของชาวบ้านพบว่า พระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร วัดบางโฉลงในองค์นี้มีพุทธลักษณะคล้ายกับหลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย จากข้อมูลระบุว่าหลวงพ่อเพชรวัดท่าหลวงองค์เดิมไม่มีซุ้มเรือนแก้ว โดยซุ้มเรือนแก้วมีผู้สร้างถวายภายหลัง เมื่อประมาณปี พ.ศ.2495 จากข้อสันนิษฐานอาจเป็นไปได้ว่าพระอธิการเอี่ยม เจ้าอาวาสวัดบางโฉลงในรูปที่ 12 อาจไปกราบนมัสการพระอธิการปาน อดีตเจ้าอาวาสวัดบางโฉลงใน รูปที่ 11 ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน โดยพระอธิการปานได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรในสมัยนั้น พระอธิการเอี่ยมจึงได้อัญเชิญหลวงพ่อเพชรมาประดิษฐาน ณ วัดบางโฉลงใน เพื่อให้พี่น้องชาวบ้านบางโฉลงได้สักการบูชาสืบมาจนถึงทุกวันนี้ วัดบางโฉลงในจัดให้มีประเพณีนมัสการปิดทองหลวงพ่อเพชร เป็นประจำทุกปี โดยจะจัด 2 วัน วันแรก คือ วันแรม 8 ค่ำ วันที่สอง แรม 9 ค่ำ เดือน 3 อย่างไรก็ตามประวัติของหลวงพ่อเพชรนี้ เป็นประวัติจากคำบอกเล่า จึงขอทิ้งหลักฐานไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล : SP : Social Practices, ritual and festive events ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับศาสนา
.
เลขที่ : เลขที่ 38 หมู่ 2 ถนนบางนา-ตราด กม.16 ต. บางโฉลง อ. บางพลี จ. สมุทรปราการ 10540
พระครูกิตติวิสุทธิวัฒน์, ดร. เจ้าอาวาสวัดบางโฉลงใน
โทร 089 023 6790
หฤษฏ์ โตพันธุ์ : มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ : 2566 Advance Track