เจว็ดเจ้าพ่อกรมหลวงคงเพ็ชร มีลักษณะเป็นแผ่นไม้รูปร่างคล้ายใบเสมาปิดทอง ถือเป็นรูปสัญญะที่เป็นตัวแทนของเทพารักษ์ที่ประดิษฐานไว้ในศาล ประเพณีแห่เจว็ดเจ้าพ่อหลวงคงเพ็ชร ประกอบด้วยพิธีปิดทอง พิธีส่งเรือ และสรงน้ำเจว็ด ชาวบ้านจะนำเครื่องสังเวยมาบูชาหน้าศาลและกราบไหว้ด้วยธูป 9 ดอก เทียน 1 เล่ม พร้อมดอกไม้ พอตอนบ่ายจะทำพิธี "ส่งเรือ" เป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บและพ้นจากอันตรายทั้งปวง ชาวบ้านจะนำเครื่องเซ่นสังเวย เช่น เป็ด ไก่ ปลา เหล้าขาว บุหรี่ ยาเส้น ผลไม้ต่างๆ เข้าพิธี และนำอาหารเครื่องเซ่นสังเวยใส่เรือจำลอง อีกทั้งยังประดับด้วยธงหลากสี แล้วนำไปวาง ที่ทางสามแพร่ง จากนั้นผู้ประกอบพิธีจะไปอัญเชิญเจว็ดเจ้าพ่อหลวงคงเพชรที่อยู่ในศาลทั้งหมดมาแห่รอบๆ บริเวณศาล เพื่อให้ชาวบ้านสรงน้ำเจว็ดด้วยน้ำอบไทย เมื่อเสร็จพิธีชาวบ้านก็มารับผ้าแดง ซึ่งเชื่อกันว่าสามารถป้องกันภัยอันตรายได้ และร่วมกันรับประทานข้าวผัดหมูและขนมหวานรวมมิตร ที่ชาวบ้านร่วมกันนำมาถวายศาลเจ้าพ่อหลวงเพชรเป็นจำนวนมาก หลังเสร็จสิ้นพิธีชาวบ้านได้นำข้าวผัดและขนมหวานเหล่านั้นแจกจ่ายแก่ผู้ที่มาร่วมงานนำไปให้ครอบครัวเพื่อความเป็นสิริมงคล ประเพณีแห่เจว็ดเจ้าพ่อหลวงคงเพ็ชร มักจะทำกันในวันที่ 23 เมษายนของทุกปี สะท้อนให้เห็นว่าเป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นตามฤดูกาลหรือเทศกาลประจำปี แต่ไม่ใช่พิธีกรรมแห่งชีวิต อันเนื่องมาจากสังคมไทยมีรากฐานมาจากสังคมเกษตรกรรม ที่ถือว่าเดือนสี่หรือเดือนเมษายนเป็นการสิ้นสุดของปี ดังนั้น การทำพิธีแห่เจว็ดจึงเป็นการขอขมาลาโทษ ปัดเป่าความชั่วร้าย อันตรายและโรคภัยทั้งปวงจากพ่อหลวงคงเพ็ชร โดยอ้างอิงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของ ชุมชน เพื่อเป็นการชำระล้างจิตใจและเสริมสร้างให้ผู้คนตระหนักถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างปกติสุข รวมทั้งยังเป็นการเสริมขวัญและกำลังใจที่ดีในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในช่วงปีใหม่ที่กำลังก้าวมา ชาวบ้านพากันนำข้าวผัดหมูและขนมหวานรวมมิตรใส่เข่งมาถวายพ่อหลวงคงเพ็ชรเป็นจำนวนมาก เป็นการเสียสละเพื่อส่วนรวมและสร้างความสามัคคีภายในชุมชนให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข หรือแม้แต่ในช่วงก่อนเริ่มพิธีแห่เจว็ดจะโหมโรงด้วยวงกลองยาว 2 วง ผสานกับการจุดพลุไฟ เพื่อเป็นการอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้มาร่วมในงานพิธีที่จัดขึ้นและประสิทธิ์ประสาทพรมงคลแก่งานพิธีนั้นๆ และกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชุมชน ผู้คนจะเดินเข้ามาในบริเวณพิธีกันอย่างพร้อมเพรียงด้วยสัญชาตญาณของมนุษย์ที่เชื่อว่าพิธีกรรมจะนำพาความเป็นสิริมงคลมาให้แก่ตนเองและครอบครัว ก่อให้เกิดเป็นบรรทัดฐานทางศีลธรรมในวัฒนธรรมท้องถิ่นของพวกเขาในที่สุด ซึ่งสัญญะในการถือปฏิบัติแบบนี้ ผู้คนในชุมชนอาจจะเกิดภาวะการรับรู้หรือไม่ก็ได้แต่ได้ยึดถือปฏิบัติติดต่อกันจนเป็นประเพณี เป็นที่น่าสังเกตว่า เจว็ดจะเป็นได้ทั้งเทพารักษ์ที่เป็นเทวดาเสมือนหนึ่งเป็นผู้ชายเรียกขานว่า “เจ้าพ่อ” และนางอัปสรเสมือนหนึ่งเป็นผู้หญิงเรียกขานว่า “เจ้าแม่” ซึ่งภายในบริเวณศาลพ่อหลวงคงเพชรก็ยังคงมีศาลแม่ย่าตั้งอยู่ติดกัน แต่ทว่าในพิธีสรงน้ำเจว็ดนั้น ได้อัญเชิญเพียงเจว็ดเจ้าพ่อหลวงคงเพชรเท่านั้น
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล : SP : Social Practices, ritual and festive events ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับเทศกาล
.
เลขที่ : หมู่ 2 ต. บางโฉลง อ. บางพลี จ. สมุทรปราการ 10540
ฝ่ายส่งเสริมการท่องเที่ยว อบต.บางโฉลง
หฤษฏ์ โตพันธุ์ : มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ : 2566 Advance Track