ในอดีตชาวบ้านตำบลบางโฉลง มีอาชีพทำนา จนเมื่อระบบนิเวศเปลี่ยนและหนูชุกชุม ก็เปลี่ยนมาเลี้ยงปลาได้เมื่อประมาณ 30 ปี นายชัยธวัช ภู่ทอง บ้านเลขที่ 42/1 หมู่ 10 ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เล่าให้ฟังว่าเลี้ยงปลามาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ โดยในอดีตจะเลี้ยงปลาเบญจพรรณหลายประเภท เช่น ปลายี่สก ปลาจีน แต่ปัจจุบันจะเลี้ยงปลานิลเป็นหลัก การเลี้ยงปลาในอดีตจะใช้วิธีการให้อาหารธรรมชาติโดยการฟันหญ้าขนซึ่งขึ้นข้างบ่อปลาเป็นอาหาร ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 1 ปี จนโตและจับปลาได้ ต่อมาก็เริ่มเพิ่มการให้อาหารเป็นรำข้าว โดยไปนำรำข้าวมาจากโรงสีข้าวแถวบางปลาซึ่งก็จะทำให้โตเร็วขึ้น และลดระยะเวลาการเลี้ยงน้อยลง จากเดิม 1 ปี ก็ลดเหลือ 7-8 เดือน หรือบางเจ้าก็ใช้การเลี้ยงโดยการผสมขี้ไก่ไปด้วย ทำให้เป็นอาหารปลา และก็สามารถจับได้ทำให้ต้นทุนลดน้อยลง ปัจจุบันเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดก็ใช้เวลาประมาณ 5 เดือน ก็สามารถจับปลาได้ โดยการจับปลาจะเป็นปลาอ๊อก โดยผุ้รับซื้อปลาเจ้าใหญ่อยู่ย่านบัวโรยและศีรษะจรเข้ใหญ ปลาที่เลี้ยงจะซื้อพันธ์ปลาจากแหล่งซื้อ คือมานิตย์ฟาร์ม จ.นครปฐม และ ป.เจริญพันธุ์ ฉะเชิงเทรา ต้นทุนพันธุ์ปลาขนาด 1 ซม. ราคาตัวละ 65 สตางค์ สมัยก่อนตัวละ 25-30 สตางค์ ที่บ้านมี 18 ไร่ ต้องใช้พันธุ์ปลาประมาณ 15,000 ตัว โดยเน้นปลานิลอย่างเดียว ปล่อยปลาไป 15,000 ตัว จะเหลือประมาณ 10,000 ตัว ขั้นตอนแรกเริ่มจากเตรียมบ่อชำ เลี้ยงให้ปลาแข็งแรงก่อนจากตัวละ 1 ซม. ให้โตประมาณ 2-3 นิ้ว แล้วก็ต้องมีตาข่ายกั้นนก ปลาเล็กไม่ต้องให้อาหาร บางบ้านอยากให้ปลาโตเร็วก็จะให้อาหาร แล้วก็จะไปบ่อใหญ่ ก่อนเริ่มเลี้ยงปลาต้องตากบ่อ ทำบ่อให้สะอาดฆ่าเชื้อ ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นสูบน้ำเข้าบ่อโดยเติม ปล่อยน้ำเข้าบ่อประมาณ 3 วัน ทยอยปล่อยน้ำ ให้เวลาปลาได้เล่นน้ำปรับสภาพไปเรื่อย ๆจนเต็มบ่อ ระหว่างที่เลี้ยง 5 เดือนก็จะหมั่นสังเกตสีของน้ำ หากสีของน้ำไม่ดีจะใช้เครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจน ในย่านบางโฉลงหมู่ 10 ก็เลี้ยงปลากันเกือบทุกหลังคาเรือน คนเลี้ยงปลาจะต้องติดตามราคาตลาดว่าราคาจะดีช่วงไหน โดยช่วงเดือนพฤษภาคม เปิดเทอม ราคาจะสูง และช่วงเทศกาลปีใหม่ราคาก็จะสูงเช่นกัน การเตรียมบ่อ ระยะผ่านไป 1 เดือน ถ้าผ่านบ่ออนุบาลมาแล้วก็ให้อาหาร เมื่อเลี้ยงไปก็จะสุ่มปลาว่ามีขนาดเท่าใด โดยเมื่อระยะใกล้หัวโล (โล 1 ขีด หรือ โล 2 ขีด หรือประมาณ 7-8 ขีด) น้ำหนักแต่ละตัวจะไม่เท่ากัน ซึ่งขนาดดังกล่าวจะอยู่ที่การรับซื้อในราคา กิโลกรัมละประมาณ 46 บาท ถือว่าราคาดี แต่ปี 2567 คาดว่าน่าจะกิโลกรัมละประมาณเกือบถึง 50 บาท สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงปลา ได้แก่ ฝนตก อากาศร้อน มีผลต่อการเลี้ยงปลา ซึ่งอาจต้องใช้เครื่องตีน้ำช่วยเพื่อให้ออกซิเจน โดยสมัยก่อนการเลี้ยงปลาเลี้ยงไม่มาก ปลาไม่ต้องแย่งอาหารกันก็ไม่ต้องใช้ โดยช่วงสงกรานต์อากาศร้อนจะเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงมาก การให้อาหารปลาจะให้อาหารวันละครั้ง ซึ่งพี่ดุ่ย จะให้อาหารช่วงเย็น แต่ถ้าให้อาหารผิดเวลา ก็ไม่เป็นไร เนื่องจากปลาหาอาหารจากก้นบ่อกินเองได้ การจับปลา เมื่อปลาเจริญเติบโตได้ขนาดที่เจ้าของบ่อพอใจ ก็จะติดต่อกับทีมจับปลา ซึ่งย่านนี้ก็จะมี 2 เจ้าใหญ่ ๆ โดยจะนัดวันเวลากันก่อนล่วงหน้าประมาณ 10-15 วัน โดยเจ้าของบ่อจะคอยเซ็คราคาของปลาว่าขนาดนี้ไซส์นี้ได้ราคาเท่าไร ซึ่งหากต่อรองจนเป็นที่พอใจก็วิดบ่อกัน โดยทีมงานก็จะมีแรงงานประมาณ 20 คนมาช่วยกันลากอวน โดยเจ้าของบ่อต้องยุบน้ำรอให้มาก ๆ เพื่อไม่ให้ “คุดเลน” หมายถึงปลาลอดใต้อวนได้ จนเมื่อถึงวันนัดหมายเจ้าของบ่อก็จะนั่งดูเขาจับปลาคอยเช็คว่าน้ำหนักกี่กิโล นั่งรอลุ้นว่าจะได้ผลผลิตตามที่คาดหมายหรือไม่ ความเชื่อในการเลี้ยงปลา ด้วยต้องอาศัยและพึ่งพิงธรรมชาติซึ่งไม่แน่นอน ดังนั้น เพื่อเป็นเสริมขวัญและกำลังใจ บางบ้านก็จะมีการบนบานต่อเจ้าที่เจ้าทาง ว่าหากเลี้ยงแล้วได้ผลผลิตตามที่ต้องการจะนำสิ่งที่บนบานไว้ไปแก้บน ซึ่งของที่บนบานมักจะเป็น หัวหมู เป็ด ไก่ เหล้า ไข่เจียว เป็นต้น ซึ่งจะจุดธูป 5 ดอก บอกเจ้าที่เจ้าทางกลางแจ้ง ซึ่งหากสำเร็จตามที่บนบานไว้ก็จะมีการแก้บน ในอดีตสมัยรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า พี่ดุ่ยเล่าว่ามีการบนด้วยละครชาตรีซึ่งจะหามาจากบางปลา คณะยอดนิยมก็จะเป็นคณะสุดประเสริฐ ซึ่งจะมาเล่นกันที่บ่อปลาที่วิดแล้ว โดยใช้ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร มาวาง ใช้ไม้พาดเป็นเวทีการแสดง การเลี้ยงปลาเป็นอาชีพหลักของคนย่านนี้ มักจะมีการปลูกต้นมะม่วงไว้ริมบ่อ เนื่องจากเป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลมาก โดยในอดีตเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้ ปัจจุบันก็จะปลูกมะม่วงแก้วขมิ้น เขียวเสวยหรือพันธุ์อื่น ๆ แล้วแต่เจ้าของบ่อ ในช่วงหลังปลูกมะรุม และสะเดา เพราะเมื่อปลูกพืชริมบ่อแล้ว มักจะไม่ค่อยมีหญ้ามาขึ้น เนื่องจากมีร่มเงาไม่มีแสงแดดมาก การถ่ายทอดภูมิปัญญาในการเลี้ยงปลา ปัจจุบันพี่ดุ่ยมีลูกชายสืบทอดการเลี้ยงปลาจนเป็นอาชีพหลักแล้ว หากถามถึงความสุขของการเลี้ยงปลาอยู่ที่ไหน ก็ได้รับคำตอบว่าเมื่อให้อาหารปลาตอนเย็นแล้วนั่งดูปลากินอาหารเพลิน ๆ และเมื่อวิดบ่อแล้วรอดูผลผลิตว่า จะได้กำไรเพียงไร ก็เป็นความสุขของคนเลี้ยงปลา นอกจากนี้กลุ่มคนเลี้ยงปลาก็มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการเลี้ยงปลาผ่านการพบปะพูดคุยกัน ปัจจุบันคนย่านนี้ก็ไปเช่าที่เลี้ยงปลากันที่อำเภอบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี และ จ.นครนายก ซึ่งทั้งสองแหล่ง ก็มีกรรมวิธีการเลี้ยงแตกต่างกันไป สำหรับพี่ดุ่ยแล้วใช้วิธีผสมผสาน ใครว่าอย่างไหนดีก็นำมาลองใช้ จนเป็นภูมิปัญญาเฉพาะตัวของแต่ละคน ซึ่งพี่ดุ่ยก็บอกว่า ลงทุน 1 ส่วนก็ได้กลับมา 3 ส่วน แค่นี้ก็สุขใจแล้ว
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล : KP : Knowledge and Practices concerning nature and the การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
.
เลขที่ : หมู่ 10 ต. บางโฉลง อ. บางพลี จ. สมุทรปราการ 10540
นายชัยธวัช ภู่ทอง
โทร 0838543367
หฤษฏ์ โตพันธุ์ : มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ : 2566 Advance Track