ธรรมจักร ธรรมจักรเป็นการสื่อความหมายถึงกงล้อด้วยลักษณะที่เหมือนล้อรถเป็นส่วนประกอบหนึ่งของราชรถหรือเกวียน ซึ่งหมายถึงการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าการหมุนไปข้างหน้าดังนั้นธรรมจักรก็เหมือน พระธรรมที่หมุนไปข้างหน้า เดินหน้าเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งนี้ธรรมจักรซึ่งมีลักษณะเป็นวงกลมนั้น ยังมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของดวงอาทิตย์อีกด้วยเนื่องจากลักษณะของธรรมจักรมีลักษณะเป็นวงกลม มีรัศมีแฉกเป็นเส้นไปทุกทิศทุกทาง ซึ่งหมายถึงการเปล่งรัศมี การแสดงอำนาจไปทุกทิศทุกทาง ดังนั้นธรรมจักรบางชิ้นจึงมีการสลักรูปพระสุริยะไว้ด้วยเช่นกัน ธรรมจักร เป็นงานศิลปะของไทยที่มีความสำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง จนอาจพูดได้ว่าธรรมจักรก็เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะสมัยทวารวดี ยิ่งไปกว่านั้น เราอาจถือได้ว่าธรรมจักรเป็นประจักษ์พยานอันแท้จริงของการแผ่ขยายทางวัฒนธรรมและการเมืองของอาณาจักรทวารวดี เนื่องจากพบปรากฏอยู่ในช่วงเวลาและบริเวณที่ค่อนข้างจำกัด ธรรมจักรเป็นงานศิลปกรรมที่พบกระจายอยู่หลายแห่งตามเมืองโบราณหรือศาสนสถานสมัยทวารวดี โดยวัสดุที่ใช้สลักธรรมจักรเป็นหินตระกูลหินปูนหรือหินทรายและศิลาแดง ซึ่งศิลาแดงจะพบได้น้อยมีขนาดใหญ่สุด เส้นผ่าศูนย์กลางราว 2 เมตร และขนาดเล็กสุดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 45 เซนติเมตร ในบรรดาแหล่งโบราณสถานและเมืองโบราณที่พบทั้งหมดนั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วจะพบธรรมจักรศิลาจากเมืองโบราณนครปฐมเป็นจำนวนมากที่สุด คือ มีวงธรรมจักรที่สมบูรณ์กว่า 20 วง และชิ้นส่วนวงธรรมจักรที่แตกหักอีกจำนวนหนึ่ง ธรรมจักรเหล่านี้มีลวดลายที่ค่อนข้างประณีตสวยงามกว่าแหล่งอื่น ๆ จึงถือเป็นวัตถุโบราณชิ้นเด่น และด้วยความที่มีคุณค่าทางศิลปะสูง กรมศิลปากรจึงมีการประกาศควบคุมการทำเทียมโบราณวัตถุ เมื่อ พ.ศ. 2541 ซึ่งมีโบราณวัตถุที่ควบคุม 9 รายการ จึงประกาศควบคุมการทำเทียมธรรมจักรจากวัดเสน่หา ซึ่งปัจจุบันได้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมด้วย จารึกพระธรรมบนธรรมจักร ธรรมจักรสมัยทวารวดีที่พบในไทยนั้น บางวงมีการจารึกหลักธรรมเอาไว้ด้วย โดยส่วนมากเป็นอักษรปัลลวะ (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12) ภาษาบาลี เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการนำมาจากพระไตรปิฎกเกี่ยวกับการรู้แจ้งในอริยสัจ 4 และปฏิจจสมุปบาท การพึ่งพาของสิ่งทั้งหลายที่อาศัยกันและกัน รวมถึงคาถา "เยธมมา" อันเป็นหัวใจของหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วย ธรรมจักรที่มีอักษรจารึกหลักสำคัญที่พบในจังหวัดนครปฐม ได้แก่ ธรรมจักรที่ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งตามประวัติกล่าวว่า เป็นสมบัติส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ซึ่งมีอักษรจารึกที่คัดมาจาก "ธัมมจักกับปวัตตนสูตร" โดยจารึกที่บริเวณดุมล้อด้านใน แปลได้ว่า "..จักรคือพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงแสดงไว้ 4 อย่าง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทั้ง 4 อย่างหมุนวนครบ 3 รอบเป็นสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ มีอาการ 12 อย่าง(ทวาทสาการัง)... " ส่วนดุมล้อด้านนอกแปลได้ว่า "พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงหมุนวงล้อของธรรมจักรหมุนเวียน 3 รอบ มีอาการ 12..." นอกจากนี้ จารึกข้อความที่วงล้อ แปลได้ว่า "...สัจจญาณกิจจญาณ และกตญาณ หมายถึง หยั่งรู้เกี่ยวกับความจริงเกี่ยวกับกิจที่ต้องทำและเกี่ยวกับกิจที่ได้ทำแล้ว... " ส่วนข้อความบนซี่กงล้อ ( 15 ซี่) กล่าวถึงความรู้แจ้งในอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคจารึกดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการใช้สัญลักษณ์ของธรรมจักร แทนความหมายของการหมุนวงล้อแห่งธรรมในการแสดงปฐมเทศนาของพระพุทธองค์ได้เป็นอย่างดี ความหมายและลวดลายประดับ วงธรรมจักรเป็นงานสลักด้วยหินตระกูลหินปูนหรือหินทรายมีลักษณะเป็นวงกลมตรงกลางสลักเป็นดุมคล้ายล้อเกวียน โดยมีซี่กงล้อ (กำ) จำนวนไม่เท่ากัน ซึ่งจะมี 8, 12, 16 จนถึง 32 ซี่ ซี่กงล้อธรรมจักรที่ต่อกับขอบด้านนอกนิยมทำลวดลายคล้ายหัวเสาแบบไอโอนิค ธรรมจักรบางวงสลับเจาะเป็นช่องว่างระหว่างซี่ล้อซึ่งจะพบได้น้อยแต่ส่วนใหญ่จะเป็นแบบทึบคือเจาะไม่ทะลุ ขอบนอกสุดของวงธรรมจักรส่วนใหญ่สลักเป็นขอบวงล้อที่มีลวดลายสลับอย่างสวยงามโดยมีลักษณะที่ต่างกันไป ส่วนใหญ่เป็นลายดอกกลมสลับลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ลายก้านขดสลับรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ลายพรรณพฤกษาแบบกนกผักกูดรูปแบบต่างๆ รวมถึงลายกลีบบัวเรียงขนาดกันที่เรียกว่า ลายบัวรวนที่ขอบวงนอก ลวดลายสลักตกแต่งในส่วนสำคัญอีกตำแหน่งหนึ่งของวงธรรมจักรสมัยทวารวดีก็คือที่ฐานของธรรมจักรตกแต่งด้วยภาพบุคคลและสัตว์หรือลายมงคลหลายรูปแบบ เช่น • รูปพระสุริยเทพสลักเป็นภาพบุคคลเพศชายสวมศิราภรณ์ประทับนั่งพระหัตถ์ทั้ง 2 ข้างถือดอกบัวที่ชูช่อขึ้น ซึ่งเป็นรูปลักษณะเฉพาะของสุริยเทพภาพเช่นนี้หมายถึงการตื่นรู้จากกิเลสตัณหาทั้งปวงคือการตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐตลอดจนแสงสว่างแห่งธรรมะนั้นยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใด • รูปคชลักษมี สลักเป็นรูปเทพสตรี ประทับนั่งอยู่ระหว่างช้าง 2 เชือกที่ทำท่าชูงวงถือหม้อน้ำรดใส่ร่างของพระนางลักษมี ภาพเช่นนี้แสดงถึงการกำเนิดอันบริสุทธิ์และความมีโชคลาภภาพลักษณะเช่นนี้ในทางพุทธศาสนายุคแรกหมายถึงการประสูติของพระพุทธองค์ • รูปหน้ากาลหรือเกียรติมุข สื่อถึงการป้องกัน สิ่งชั่วร้ายรวมทั้งอาจหมายถึงความไม่ยั่งยืน • รูปกลีบบัวแสดงถึงการกำเนิดอันบริสุทธิ์หรือปัญญาอันเกิดจากการตรัสรู้
จับต้องได้ : Tangible.
โบราณวัตถุ : AA : Archeological Artefact ประวัติศาสตร์
.
เลขที่ : จังหวัดนครปฐม ต. พระปฐมเจดีย์ อ. เมืองนครปฐม จ. นครปฐม 73000
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏนครปฐม
ลัทธสิทธิ์ ทวีสุข : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม : 2566 Open Call