ตำบลบางปลาเป็นชุมชนที่มีนาฏศิลป์พื้นบ้าน คณะละครชาตรีและเครื่องดนตรีปี่พาทย์มากกว่า 10 คณะ สมัยก่อนคณะละครต่าง ๆจะใช้เวลายามค่ำคืนฝึกซ้อมดนตรีไทยและละครชาตรี ดังที่คุณยายท่านหนึ่งกล่าวว่า “สมัยก่อนกลางคืนเขาซ้อมละครได้ยินกันทั่วทั้งเกาะ กลางวันทำนา ซ้อมกลางคืน” (คำนึง จันทร์ดี. 27 กรกฎาคม 2555 : สัมภาษณ์) อาจารย์อเนก สงสุวรรณเล่าว่า “ละครเขาจะฝึกกันเย็น ๆ หัวค่ำ เพราะว่าแต่ละบ้านเขาจะมีโรงสำหรับเก็บข้าว โรงเก็บข้าวที่พูดมาคือไปแลกข้าวมาแล้วเอาข้าวมาใส่ในยุ้ง เขาเรียกว่าโรงเก็บข้าว พอข้าวขายไปแล้วโรงจะว่าง บ้านที่เป็นละครเขาก็จะมาฝึกละคร บางทีผมก็พายเรือไปดูเขา คนฝึกเขาถือไม้อยู่ห่าง ๆ เวลารำไม่ดีเขาก็ตี ผมยังล้อเพื่อนอยู่เลย วันนี้มึงรับจ้างทำปลา ตอนกลางคืนเป็นเจ้าหญิง”(เอนก สงสุวรรณ. 26 มีนาคม 2556 : สัมภาษณ์) คนพื้นที่หลายคนบอกว่า สมัยก่อนเมื่อใครจะแก้บนที่ไหนก็จะมาหาละครรำแก้บน ละครชาตรีที่บางปลา ที่กล่าวมานี้จึงเป็นเครื่องบ่งบอกว่าชุมชนบางปลาเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์ของตนเองที่แท้จริงมาแต่ดั้งเดิม (พรรณศิริ แจ่มอรุณและคณะ. 2557) จากการบอกเล่าต่อกันมาคณะนักแสดง ละครชาตรีของจังหวัดสมุทรปราการ มีความเชื่อว่า รูปแบบการแสดงละครชาตรีของจังหวัดสมุทรปราการที่นิยมมาถึงปัจจุบัน สืบทอดมาจากสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เรียกว่า “ละครชาตรีเข้าเครื่อง” หรือ “ละครชาตรีเครื่องใหญ่” กล่าวคือมีฉากที่ใช้เพื่อความสวยงาม ทั้งฉากป่าหรือฉากท้องพระโรง พร้อมทั้งใช้เป็นสถานที่ในการแต่งกายของตัวละครได้ ดนตรีที่ใช้เป็นแบบผสมคือ ใช้เครื่องดนตรีละครชาตรีผสมวงปี่พาทย์ การแสดงเริ่มด้วยรําซัดชาตรีแล้วลงโรง จับเรื่องด้วย “เพลงวา” ละครชาตรีนิยมจ้างไปแสดงเพื่อแก้บน งานมงคลหรืองานเฉลิมฉลองต่าง ๆ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานแต่งงาน ไหว้ครู-บูชาครู ตั้งศาล พระภูมิ วางศิลาฤกษ์เปิดโรงงาน เป็นต้น ละครชาตรีดั้งเดิมนั้น มีความผูกพันกับวิถีชีวิตชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกร กล่าวคือ มีการจ้างเพื่อไปแก้บน หากการเลี้ยงปลา-เลี้ยงกุ้งได้ผล ประกอบการดีดังที่ได้บนบานไว จากการสัมภาษณ์ผู้สืบทอดละครชาตรีคณะประภาศรี สุดใจ และคณะสุดประเสริฐ ทราบว่า ประวัติของการแสดงละคร ชาตรีในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการมีมามากกว่า 100 ปี มาแล้ว คณะละครชาตรีรวมตัวกันมากในพื้นที่ตำบลบางปลาหรือเรียกกันจนติดปากและคุ้นหูว่า “ดงละครชาตรีบ้านบางปลา” ตั้งอยู่ในตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ลักษณะการสืบทอดทางเชื้อสายที่เป็นละคร เป็นดนตรีปี่พาทย์หรือเป็นเครือญาติพี่น้อง บ้านใกล้เรือนเคียงที่มีใจรักการแสดง ละครชาตรีคณะหนึ่งจะมีหัวหน้าคณะหรือโต้โผที่เป็นต้นบท ตลอดจนเป็นเจ้าของเครื่องละคร อุปกรณ์การแสดง รับงานแสดง รวบรวมตัวละคร หากตัวละครไม่ครบ ต้องทำหน้าที่จัดหามาจากคณะอื่นเพื่อให้ตัวละครครบโรง ราคาจ้างโดยประมาณ 8,000-10,000 บาท คณะละครชาตรี ช.รุ่งเรืองศิลป์ ปัจจุบันมีนายสมพร ทัดเจริญ เป็นหัวหน้าคณะ
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
ศิลปะการแสดง : PA : Performing Arts นาฏศิลป์และการละคร
.
เลขที่ : หมู่ 3 ต. บางปลา อ. บางพลี จ. สมุทรปราการ 10540
นายสมพร ทัดเจริญ
โทร 062 652 6336
หฤษฏ์ โตพันธุ์ : มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ : 2566 Advance Track