อู่ต่อเรือ จ. มิตรใหม่ ตั้งอยู่เลขที่ 60/4 หมู่ 12 ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ ดำเนินการต่อเรือมาตั้งแต่รุ่นพ่อ คือนายจอน รอดบุญชัย อายุ 72 ปี ซึ่งปัจจุบันก็ถ่ายทอดให้กับ นายจรัล รอดบุญชัย อายุ 46 ปีรุ่นลูก ซึ่งคุณพ่อก็ยังเป็นช่างต่อเรือ ช่วยกันอยู่ รวมระยะเวลาที่รับต่อเรือก็ประมาณ 49 ปี ลุงจอน เล่าว่า เป็นคนที่เกิดที่หมู่ 12 ตำบลบางปลานี้ เรียนรู้โดยอาศัยครูพักลักจำ จากช่างอื่น ๆ ในอู่ต่อเรือ โดยการสังเกตจดจำ คุณลุงเล่าว่า เคยสั่งช่างต่อเรือตั้งแต่ลูกชายยังอยู่ในท้องแม่ จนลูกจะคลอดเรือทำไมยังไม่เสร็จ ทำไมมันจึงต่อนานจัง เลยคิดว่า ถ้าต่อเรือเป็นเองได้ก็น่าจะดี เลยต่อเรือเองแล้วก็ให้คนที่เป็นติชมว่า ถ้าทำแบบนี้มันจะชิ้นหรือดำน้ำ สังเกตและลองผิดลองถูกมาเรื่อย เทคนิคการต่อเรืออยู่ที่การวางทางน้ำให้ดี การแต่งท้องเรือ ต้องคำนวณเครื่องยนต์เรือด้วยว่าหนักเท่าไร จึงจะพอดีกับเรือและทางน้ำ วางแท่นระยะไหน ขณะนี้การวางเครื่องเรือเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับเครื่องเรือนั้น มันแรงขนาดไหน ซึ่งถ้าใช้สูตรเดิมก็คงจะไม่ได้ ก็จะให้ลูกชายจรัล เป็นคนวางเครื่องเรือ แล้วก็ใช้การสังเกต ปรับปรุงไปเรื่อย ๆ ลุงจอนใช้วิชาต่อเรือนี้ในการเลี้ยงชีพมาตั้งแต่ปี 2518 โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2513 หลังจากบวชเรียนแล้วก็ทำอาชีพเกษตรกรรม ทำนา เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง ส่วนการต่อเรือเป็นอาชีพเสริม ถึงแม้ลุงจอนจะต่อเรือเป็นงานเสริม แต่ทุก ๆ เช้าตื่นมาต้องเปิดไฟดูเรือก่อนออกไปทำงานอื่น ๆ จำได้ว่า ลุงได้ค่าแรงจาการต่อเรือลำแรก ด้วยราคาสองพันบาท โดยเป็นค่าของประมาณ 1700 บาท โดยท่านบอกว่า การต่อเรือสมัยก่อนไม่แพงเพราะราคาไม้ไม่แพงมาก ไม้หน้าหก สิบมิลลิเมตร ราคา 5 บาท สมัยก่อนคุณลุงจะไปซื้อไม้จากโรงไม้แถวบางปลา โดยการว่าจ้างต่อเรือสมัยก่อน ลุงจะใช้สัญญาใจในการว่าจ้างกัน โดยจะจ่ายมัดจำก่อนครึ่งหนึ่งของราคาเรือ และเมื่องานเสร็จก็จ่ายส่วนที่เหลือ โดยไม่มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร เรียกว่า สัญญาใจ ไม่มีการโกงกัน เคยมีคนมาจ้างลุงต่อเรือและให้ลงนามสัญญาในการว่าจ้าง ซึ่งสัญญานั้นผูกมัดมากเมื่อไม่เสร็จทันกำหนดเวลา และเขียนรายละเอียดของวัสดุที่ใช้ยุบยิบไปหมด ลุงก็จะบอกว่าให้ไปต่อเรือกับท่านอื่น ลุงไม่ชอบไม่สบายใจ ลุงไม่เคยโกงใคร ใช้สัญญาใจที่ซื่อสัตย์ คนที่มาว่าจ้างกันประจำจะรู้จักนิสัยกัน เคยมีงานส่งล่าช้า ลูกค้าก็เข้าใจกัน เพื่อให้ได้งานคุณภาพดี ในอดีตสมัยลุงเป็นหนุ่มในย่านนี้มีอู่ต่อเรือหลายอู่ อู่บ.ฉ.ล. อู่ธวัชชัย อู่ชัชวาล อู่บุญช่วย อู่สิงห์สำอาง อู่เกียรติชัย เป็นต้น ปัจจุบันเหลือน้อยมาก ถามว่า ลุงภูมิใจหรือไม่ที่เหลือลุงเจ้าเดียว ลุงบอกไม่ภูมิใจ ลุงอยากให้มีเยอะๆ เหมือนเมื่อก่อน ความภูมิใจของลุงจอนในการต่อเรือ ภูมิใจที่เรือที่ต่อจากฝีมือเราได้ไปแข่งชนะหลายที่ หรือเรือของเราได้ไปโลดแล่นถึงภาคใต้ จันทบุรี สมุทรสงคราม ฯลฯ แม้แต่มีเด็กอายุ 13 ปี นำเรือที่เราต่อไปแข่งขันแล้วได้รางวัลกลับมา นับเป็นความภาคภูมิใจ ทุกวันนี้ภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาการต่อเรือให้ลูกชายทั้งสองคนคือ นายจรัล และนายนิรุตติ์ รอดบุญชัย และยังถ่ายทอดให้รุ่นหลาน ทำให้ภูมิปัญญาการต่อเรือนี้คงอยู่สืบไป ซึ่งลุงยินดีจะถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจ แต่ลุงจะถามว่า บ้านที่อยู่อยู่ริมน้ำไหม จะมีโอกาสที่จะได้ต่อเรือและใช้เรือหรือไม่ ลุงก็จะยินดีที่จะถ่ายทอดให้ทุกคน หรือแม้แต่นักศึกษามาทำโครงงาน หรือชาวต่างประเทศมาขอเรียนลุงก็เคยสอนให้ คุณจรัล รอดบุญชัย ทายาทรุ่นที่ 2 บอกว่าเรือที่ต่อส่วนใหญ่จะเป็นเรือกiะบะ เรือสองตอน ซึ่งก็มีความยาวหลายขนาดตั้งแต่ 4 เมตร จนถึง 12-13 เมตร โดยกรรมวิธีในการต่อเรือก็เป็นเอกลักษณ์ของช่างแต่ละคน การต่อเรือเริ่มจากการซื้อไม้แปรรูป เช่นไม้มะยม ไม้สัก ไม้ตะเคียน โดยแหล่งในการซื้อไม้แปรรูปนี้ก็ซื้อมาจากโรงไม้ย่านบางบ่อ คลองด่าน นนทบุรี หรือแม้แต่สมุทรสงคราม โดยจะซื้อจากแหล่งไม้เพื่อต้นทุนในการต่อเรือจะได้ถูกลง โรงไม้ที่ซื้อประจำคือโรงไม้สุนทร ย่านตลาดคลองด่าน อำเภอบางบ่อ ต่อจากนั้นจะเป็นการวาดแบบ ตีเป็นข้างเรือ ทรงเรือ ใส่กรงนอน ชุดบน ขึ้นหัว แต่ละขั้นตอนใช้ระยะเวลานานพอสมควร ตัวท้องเรือจะทำจากไม้อัดชื้อมาจากโรงไม้แถบบางบัวทอง นนทบุรี หรือก็ปทุมธานี ที่ซื้อประจำจะเป็นของบริษัทเสร็จกิจ โดยเดินทางไปซื้อด้วยตนเองไปเอามาครั้ง 20- 30 แผ่น องค์ประกอบ นอต ตะปู ก็ขึ้นอยู่ว่าเจ้าของเรือต้องการให้เป็นเหล็ก หรือเป็นสแตนเลส เมื่อขึ้นแบบ ตัดชุดบนเสร็จใส่ดัดปลา แต่งท้องเรือ ก็จะเป็นงานสี ขัดเคลือบเงา โดยการพ่นสีใช้สีพ่นรถยนต์ เรือที่ต่อเสร็จก็จะใส่เครื่องเรือได้เลย ซึ่งก็แล้วแต่เจ้าของเรือจะใช้เครื่องเรือรุ่นใด ยี่ห้อใด ปัจจุบันอู่ต่อเรือ จ.มิตรใหม่ จะมีออเดอร์สั่งต่อเรือเข้ามาไม่ขาด โดยเรือหนึ่งลำจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน งานจึงจะออกมาดี สนนราคาอยู่ที่ 60,000 บาท ถ้าขนาดเล็กสุดซึ่งมักจะเรือแข่งก็จะประมาณ 1 หมื่นบาท เรือขนาด 4 เมตร ก็จะอยู่ที่ 25,000 บาท โดยโครงไม้จะใช้ไม้มะยม ตอนนี้ทางอู่จะใช้ไม้จากอุตรดิตถ์ โดยไปซื้อมาจจากโรงไม้ที่ จ.สุพรรณบุรี โดยคุณภาพไม้แล้ว จะมีการเหมาต้นมาเลย ประมาณ 60,000 บาท แต่ถ้าได้ไม้จากประเทศลาวอายุเกือบ 100 ปีจะได้ไม้คุณภาพดี แผ่นใหญ่ งานออเดอร์ที่เข้ามาจะชุกมากก่อนประเพณีรับบัว เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าจะให้มาต่อเพื่อเตรียมไปในงานรับบัวบางพลี ซึ่งคนย่านนี้มักจะสั่งต่อเรือกระบะและเรือซิ่ง ปัจจุบันอู่เรือ จ.มิตรใหม่ ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาการต่อเรือนี้ส่งต่อให้รุ่นหลานคือ นายภาณุวัฒน์ อุ่นเงิน อายุ 15 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบางพลีราษฎร์บำรุง โดยน้องภาณุวัฒน์ บอกว่า ตนเองสนใจเรื่องการต่อเรือมาตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยมีแรงบันดาลใจมาจากปู่ แต่ทางครอบครัวไม่ค่อยอยากให้มาเล่นเรือด้วยเกรงอันตราย แต่ด้วยความสนใจและความชอบก็เลยมาเรียนต่อเรืออย่างจริงจัง จากรุ่นปู่ เริ่มการฝึกจะเป็นการทาสีเรือ การตอกตะปู หรือการส่งเครื่องมือ เจาะไขสกรู เป็นต้น ซึ่งในอนาคตน้องภาณุวัฒน์ก็อยากจะเรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาด้านนี้ให้คงอยู่สืบไป น้องฝากบอกคนรุ่นใหม่ว่า หากสนใจเรื่องเรือ ก็มาเรียนรู้การเป็นช่างต่อเรือกันได้ เพื่อให้ภูมิปัญญานี้อยู่ในบ้านเราต่อไป ในเดือนเมษายน 2567 ออเดอร์ที่เข้าคิวในการต่อเรือในอู่ จ.มิตรใหม่ (อู่ลุงจอน) ไว้ประมาณ 10 กว่าลำ แล้วยังมีเรือเก่าเอามาให้ซ่อมแซมอีกจำนวนหนึ่ง ช่างบอกว่างานต่อใหม่ กับงานซ่อม งานต่อใหม่จะง่ายกว่า และนี้ก็คือเรื่องราวการต่อเรือของอู่ จ. มิตรใหม่ อู่เรือที่คนในท้องถิ่นรู้จักกันเป็นอย่างดี
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
งานช่างฝีมือดั้งเดิม : TC : Traditional Craftsmanship ผลิตภัณฑ์อย่างอื่น
.
เลขที่ : 60/4 หมู่ 12 ต. บางปลา อ. บางพลี จ. สมุทรปราการ 10540
นายจรัล รอดบุญชัย
โทร 0800890939
หฤษฏ์ โตพันธุ์ : มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ : 2566 Advance Track