จิตรกรรมฝาผนัง ภายในวิหารวัดป่าแดด เขียนขึ้นในช่วง สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อายุประมาณ 135 ปี รูปแบบเป็นศิลปกรรมพื้นถิ่น เทคนิคสีฝุ่น เขียนโดยช่างแต้ม นัยว่าเป็นชาวไทใหญ่ แต่มีการจารึกอักษรอธิบายใต้ภาพเป็นอักษรล้านนา เรื่องราวของภาพนั้นเขียนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ไตรภูมิ พุทธประวัติ เวสสันตรชาดก วิฑูรบัณฑิตในทศชาติ และนิทานพื้นบ้านเรื่องจันทคาปู๋จี่ หรือจันทรคราส ภาพพระบัวเข็ม (พระอุปคุต) นอกจากนี้แล้ว ในการแสดงเรื่องราวต่างๆ ยังสามารถสะท้อนถึงวิถีชีวิตรของชาวเมืองแจ่มในสมัยก่อน 100 ปี ได้แก่ ภาพของทุ่งนา การทำนา การแต่งกาย คือ ผู้หญิงใส่เสื้อผ้าฝ้ายแขนยาวนุ่งผ้าซิ่นลายขวาง เรียกว่า “ซิ่นก่าน” และสวมหมวกสานเรียกว่า “สุบกุบ” ส่วนผู้ชายไม่นิยมสวมเสื้อ ยกเว้นตอนอากาศเย็น มักจะใช้ผ้าคลุม เรียกว่า “ป้าดเกิ่งตุ้มเกิ่ง” ท่อนล่างนุ่งผ้า เรียกว่านุ่งแบบ “เค็ดม่าม” เพื่อให้เห็นรอยสักที่มีการสักตั้งแต่เหนือเข่าจนถึงบริเวณสะดือ เรียกว่าสักแบบ “เตี่ยวก้อม” เป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นนิยมของชาวไทยวน ภาพจิตรกรรมมีการวาดบนผนังปูนสูงจากพื้นประมาณ 1.20 เมตร มีการวาดให้ดูเหมือนว่าเขียนบนแผ่นผ้าแล้วนำขึ้นไปติดบนผนัง ลักษณะเหมือนภาพพระบท สังเกตุจากการที่รูปภาพแต่ละช่องจะมีการตกแต่งขอบรูปเหมือนขอบลายผ้าโดยรอบแทบทั้งสิ้น มีการวาดภาพทั้งหมด 8 ช่องผนังระหว่างเสา และผนังด้านที่มีการย่อเก็จเป็นภาพขนาดเล็กตามส่วน นอกจากนี้มีอาคารสำคัญอีกหนึ่งหลังอยู่บริเวณหลังวิหาร ได้แก่ อาคารหอไตร เป็นลักษณะอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กประกอบกับโครงสร้างเครื่องบนเป็นไม้ ทรงจั่วผสมปั้นหย่า ภายในอาคารใช้เก็บพระไตรปิฎกและคัมภีร์ใบลานรุ่นเก่า ผนังภายนอกอาคารหอไตรเขียนด้วยสีบนพื้นปูนเปียก ประตูทางเข้ามีปูนปั้นรูปเทวดา และหน้าบันจั่วปั้นด้วยดินเหนียวอันเป็นเทคนิคช่างโบราณ
จับต้องได้ : Tangible.
งานช่างฝีมือดั้งเดิม : TC : Traditional Craftsmanship งานศิลปกรรมพื้นบ้าน
.
เลขที่ : หมู่ 4 ต. ท่าผา อ. แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่ 50270
พ่อหนานจำเริญ ต๊ะสม
0813879554
เจษฏา สุภาศรี : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา : 2566 Advance Track