ปี พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระราชทานที่ดิน ให้ชาวโปรตุเกสที่ร่วมสงคราม กู้เอกราชและสร้างพระราชวัง ที่ดินตั้งใกล้พระราชวัง ด้านหนึ่งคิดแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหนึ่งติดคลองกุฎีจีน ใต้วัดจีน ตั้งหมู่บ้านโปรตุเกสชื่อ “หมู่บ้านแม่พระลูกประคำ” เรียกฝรั่งพวกนี้ว่า ฝรั่งกุฎีจีน และต่อมาเรียกหมู่บ้านแม่พระลูกประคำนี้ว่า หมู่บ้านกุฎีจีน มีคริสตังประมาณ 100 คน ต่อมา คุณพ่อมาร์ค กอรร์ กลับมาจากจันทบุรี 14 กันยายน พ.ศ. 2312 ได้รับพระราชทานที่ดิน ติดกับหมู่บ้านแม่พระลูกประคำ สร้างวัด ชื่อ “วัดซางตาครู้ส” (แปลว่า กางเขนศักดิ์สิทธิ์ : 14 กันยายน ตรงกับวันฉลองกางเขนศักดิ์สิทธิ์) และรับผู้ลี้ภัยชาวโปรตุเกสคราวเสียกรุงจากเขมร 200 คนกลับมา รวมเป็น 300 กว่าคน ปี พ.ศ. 2313 พระเจ้าตากสิน เสด็จเยี่ยม วัดซางตาครู้ส พระราชทานฝาผนังวัด และพระราชทานที่ดินเพิ่มให้แก่ วัดซางตาครู้ส ติดกับที่ดินผืนเก่าที่เคยพระราชทานให้พวกโปรตุเกส รวมเป็นที่ดินทั้งหมดประมาณ 16 ไร่ พื้นที่เป็นที่ลุ่มริมแม่น้ำ หน้าน้ำน้ำท่วมประมาณ 3 เดือน โบสถ์ซางตาครู้สหลังแรกแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2322 มีลักษณะเหมือนยุ้งข้าว กว้าง ๆ สร้างด้วยไม้กระดานและไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยใบจาก รวมช่วงเวลาได้ระหว่างปี พ.ศ. 2312 – 2378) ในปี พ.ศ. 2376 เกิดไฟไหม้ในชุมชนกุฎีจีนลามไปถึงโบสถ์ซางตาครู้ส (หลังแรก) จนเกิดความเสียหาย และได้รับการทำนุบำรุงก่อสร้างเพิ่มเติมโดยคุณพ่อปัลเลอกัว แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2378 เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน หน้าบันลวดลายรอคโคโค่ ภายหลังต่อมาในยุคสยามสมัยใหม่ รัชกาลที่ 5 บ้านเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลง ขณะนั้น คุณพ่อ กูเลียลโม กิ้น คาครู้ส เชื้อสายญวนจันทบุรี มาเป็นเจ้าอาวาส จึงมีญวนจันทบุรี ติดตามเข้ามาอยู่ในกุฎีจีนจำนวนมาก เพิ่มความหลากหลายเป็น เชื้อสายโปรตุเกส เชื้อสายฝรั่งอื่น ๆ สยาม เขมร จีน ญวน ก่อเกิด การผสมผสานทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ปี พ.ศ. 2456 หลังรัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชย์ คุณพ่อ กิ้น สร้างโบสถ์หลังที่ 3 (ปัจจุบัน) เป็นแบบเรอเนสซอง รีไววัล (นาวิณี พงศ์ไทย. สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567) โบสถ์ซางตาครู้สในปัจจุบันมีลักษณะแบบนีโอคลาสสิค เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น เน้นลวดลายใบไม้ ดอกไม้ หัวเสาเน้นแบบคอรินเธียน ภายในตัวอาคารประดับด้วยกระจกสี บานประตูหน้าต่างทำเป็นรูปไม้กางเขนตามชื่อของวัด โครงสร้างอาคารของวัดซางตาครู้ส เป็นแบบโบราณ คือใช้ผนังอาคารทั้งสองด้านเป็นส่วนที่รับน้ำหนักของหลังคา ใช้เสาลอยรับน้ำหนักของฝ้าเพดาน โดยมีคานยึดหัวเสากับผนังไม่ให้แบะออกจากกัน ฝ้าเพดานใช้เป็นทั้งโครงสร้างอาคารและส่วนประดับไปในตัว คือเป็นคอนกรีตหล่อโค้งตามรูปเพดาน ส่วนช่องดาวเพดานหล่อเป็นช่อง ๆ นำมาติดกับคานคอนกรีตเสริมเหล็ก ให้เข้ากับรูปโค้ง ฐานรากกของอาคารไม่ได้มีการตอกเสาเข็ม แต่ใช้ระบบฐานแผ่ ส่วนฐานรากของโดมรอง ด้วยต้นซุงหรือเสาไม้ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้เพราะยังไม่มีการขุดเพื่อพิสูจน์ส่วนของฐานรากภายใน ห้องซาคริสเตีย (ห้องเก็บเครื่องศาสนภัณฑ์) พบว่ามีการทำฐานแผ่ ฐานผนังอาคารทุกด้านเทคอนกรีตเสริมเหล็ก ตัวอาคารวัดซางตาครู้สประกอบด้วยส่วนประกอบหลักใหญ่อยู่ 3 ส่วน คือ อาคารด้านหน้าหรือส่วนโดม แบ่งเป็นส่วนย่อย 2 ส่วน คือส่วนล่างเป็นส่วนซุ้มโค้งทางเข้า ด้านหน้าและด้านข้าง 3 ด้าน ทั้งหมด 5 ช่อง ช่องตรงกลางด้านหน้าเป็นทางเข้าใหญ่ ฝ้าเพดานภายในตกแต่งด้วยลวดลายเลียนแบบดาวเพดาน แบ่งส่วนฝ้าเพดานเป็น 3 ช่องประกอบด้วยลวดลายดอกไม้ปูนปั้นถัดขึ้นไปเป็นส่วนของ ชั้นลอยภายนอกทำเป็นช่องลม หัวเสาเป็นแบบคอรินเธียน ส่วนขึ้นไปเป็นส่วนของระเบียงหล่อด้วยซีเมนต์ เป็นซี่ลูกกรงที่มุมทั้งสี่ประดับหัวเสาด้วยรูปคบเพลิง พื้นระเบียงชั้นนี้รองรับหอระฆังทรงสี่เหลี่ยมยกเว้นด้านที่ติดกับหลังคาของโถงด้านล่างภายในชั้นนี้เป็นที่ไว้ระฆัง เป็นระฆังการีย็อง ซึ่งเป็นระฆังชุดมี 16 ใบ เวลาเล่นเพลงระฆังจะใช้มือกดคีย์เล่นไปตามโน้ตเพลง ส่วนบนสุดเป็นโดม ภายในโปร่ง ยอดโดม ทำเป็นหอคอยขนาดเล็ก บนยอดติดตั้งรูปหล่อไม้กางเขน ตัวอาคาร ส่วนที่ใช้เป็นสถานที่ทำศาสนพิธี เชื่อมต่อกับอาคารด้านหน้า(หอระฆัง) และห้องซาคริสเตีย ทางด้านหลัง บริเวณด้านหน้ามีซุ้มพระแท่นบูชาที่ผนังด้านหลังสุดของวัด ตรงกลางซุ้มประดิษฐานรูปพระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงกางเขน ตัวเสาประดับลวดลายปูนปั้นปิดทอง รองรับหน้าจั่วจำลอง ภายในหน้าจั่วประดับลวดลาย ปูนปั้นรูปแกะของพระเจ้านอนอยู่ภายในรางหญ้า ล้อมรอบไปด้วยเถาองุ่นและรวงข้าวสาลี ส่วนค้ำยันใต้จั่ว แต่ละอันคั่นด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้และที่ผนังช่วงล่างปั้นปูนเป็นลายใบปาล์ม ภายในซุ้มแท่นบูชา ผนังด้านหลังและฝ้าเพดานทำเป็นช่องโค้งรูปครึ่งวกลม มีเสารองรับซุ้มสองข้างภายในโค้งแบ่งเป็น 3 ช่วง คือช่วงบนลงรัก ปิดทอง เป็นสัญลักษณ์ของท้องฟ้าตรงกลางเป็นเครื่องหมาย LHS มาจากคำว่า “Iesus Hominis Salvator” ซึ่งแปลว่า “พระเยซูเจ้า พระผู้ไถ่ มนุษยชาติ” ล้อมรอบด้วยมงกุฎหนามและรัศมี ส่วนล่างเขียนเป็นรูปท้องฟ้าช่วงบนปั้นปูนลายพวงมาลัยปิดทอง ถัดลงมาเป็นตัวผ้าม่านคล้ายพิมพ์ลายดอกไม้สลับกับผลไม้คล้ายผลทับทิม ภายในซุ้มทำเสากลมหัวเสาแบบคอรินเธียนจำนวน 6 ต้น คั่นผ้าม่านเป็นช่วง ๆ ตรงกลางของซุ้มประดิษฐานรูปพระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนเป็นไม้แกะสลัก ภายในโถงอาคารทำฝ้าเพดานเป็นรูปโค้งคล้ายประทุนเรือ ฝ้าเพดานแบ่งช่องเป็นกรอบสี่เหลี่ยมจำนวน 189 ช่องพื้นภายในวัดเดิม ปูด้วยกระเบื้องซีเมนต์อัดสีเรียกว่า ซีกรีต ผนังตอนบนเจาะช่องแสงกลมติดกระจกสีทำเป็นรูปกางเขนทั้งหมด 14 ช่อง ซึ่งมีการทำขึ้นใหม่ในสมัยบาทหลวงอังแซลม์ เสงี่ยม ร่วมสมุห์ โดยเปลี่ยนจากกระจกสีวงกลมรูปกางเขน เป็นกระจกภาพรำพึงสายประคำศักดิ์สิทธิ์และเปลี่ยนกระจกสีครึ่งวงกลม เป็นกระจกสีภาพเหตุการณ์บางตอนในพระคัมภีร์ หากหันหน้าไปยังแท่นบูชา ภาพด้านซ้ายมือจะเป็นภาพเหตุการณ์ในภาคพันธสัญญาเดิม และด้านขวาเป็นภาพเหตุการณ์ในภาคพันธสัญญาใหม่ ห้องซาคริสเตีย อยู่ทางมุขด้านหลังเชื่อมต่อกับตัวอาคารวัด มีอาคารและหลังคาเป็นรูปเหลี่ยม บนหลังคาช่วงหลังทำหลังคาขนาดเล็กแบบมุข ตกแต่งหลังคาผนังหล่อด้วยคอนกรีต ภายในไม่มีการตกแต่ง เนื่องจากเป็นที่เก็บเครื่องศาสนภัณฑ์ที่ใช้ประกอบพิธีมิสซา ห้องซาคริสเตียมีประตูทางเข้า 2 ทาง คือทางตะวันออกและตะวันตก เชื่อมต่อกับทางเข้าด้านประตูรั้ว บริเวณสุดทางด้านหลังข้างนอกของวัด ทำเป็นกุฏิบรรจุศพบาทหลวง กูเลียลโม กิ๊น ดาครู้ส ผู้สร้างวัดหลังที่ 3 นี้ โดยมีรูปหล่อครึ่งตัวของท่านที่ชาวบ้านสร้างให้ในโอกาสที่บาทหลวงองค์นี้บวชเป็นพระสงฆ์ครบ 60 ปี นอกจากนี้ภายในโบสถ์วัดซางตาครู้ส มีรูปปั้นพระเยซูคริสต์เจ้าทรงรับศีลล้างบาปจากนักบุญยอห์น แบปติส อยู่ตรงประตูทางเข้าด้านซ้ายมือ ภาพวาดพระมารดานิจจานุเคราะห์ หน้าแท่นบูชา นักบุญอันตน แห่งปาตัว นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ แม่พระลูกประคำ นักบุญยอแซฟและพระกุมารเยซู รูปปั้นพระเยซูเจ้า ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพ ประดิษฐานอยู่บนธรรมาสน์ไม้แกะสลัก ด้านหน้าของวัดมีรูปปั้นพระเยซูคริสต์เจ้าถูกตรึงกางเขน แม่พระประจักษ์ที่ถ้ำเมืองลูร์ด ด้านหลังของวัด มีรูปปั้นนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู นักบุญฟรังซิส อัสซีซี และด้านข้างวัด มีพระศรีชุมพาบาล จิตรกรรมของวัดซางตาครูสส่วนใหญ่เป็นกระจก stain glass หรือกระจกสีที่มีลักษณะกลมอยู่ด้านบนของผนังโบสถ์ทั้ง 2 ด้าน เป็นภาพรำลึกถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระเยซู เป็นข้อรำลึกที่คริสตชนน้อมรำลึกอยู่เสมอ ๆ ที่อยู่ด้านซ้ายของตัวโบสถ์(มองจากด้านพระแท่นบูชา) เป็นภาพเกี่ยวกับพันธะสัญญาเดิมเป็นเรื่องราว ในยุคโมเสสก่อนคริสตกาล ด้านขวาเป็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพระเยซู เหนือประตูหลังโบสถ์เป็นภาพโมเสสถือไม้เท้ามีงูพันอยู่ และมีชาวอิสราเอลซึ่งถูกงูกัดมาขอให้ช่วย ซึ่งมีความเชื่อว่า หากชาวอิสราเอลคนใดถูกงูกัดและได้มาเห็นไม้เท้านี้จะรอดตาย แต่หลังจากคริสตกาลแล้วไม้กางเขน คือ สัญลักษณ์ของความอยู่รอด (จิราภรณ์ มาตังคะ, สุวรรณี สันต์ธนะวาณิช, ภัสสร ด้วงสุวรรณ, และสุนันทา โชติกเสถียร. (2549). ศาสนศิลป์ของศาสนสถานริมฝั่งน้ำ กรณีศึกษาชุมชนธนบุรี (รายงานการวิจัย). กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี.)
จับต้องได้ : Tangible.
โบราณสถาน : AS : Archeological Site ย่านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
.
เลขที่ : 112 ซอย กุฎีจีน ต. วัดกัลยาณ์ อ. เขตธนบุรี จ. กรุงเทพมหานคร 10600
กิตติ เชี่ยวชาญ : มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา : 2566 Festival