เรือนไม้ที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก มีการประดับตกแต่งลวดลายฉลุที่วิจิตรพิสดาร หรูหรา สวยงามเหมือนขนมปังขิง (Gingerbread) หรือเรือนมะนิลา เจ้าของบ้านหลังนี้คือ นางสมบุญ วินด์เซอร์ บุตรสาวเจ้าของโรงสีข้าวในคลองบางหลวง ซึ่งได้สมรสกับนายหลุยส์ วินด์เซอร์ บุตรชายของนายกาเนียร วินด์เซอร์ กัปตันเรือชาวอังกฤษ และได้มาตั้งรกรากอยู่ในชุมชนกุฎีจีนที่มีอายุกว่า 100 ปี ซึ่งแต่เดิมนั้น มี 2 หลัง โดยด้านหน้าเป็นตึกปูนแบบฝรั่ง (ปัจจุบันไม่ปรากฏ) และ เรือนไม้ที่ปรากฏในปัจจุบันคือเรือนไม้ด้านหลังตึกปูนที่เคยมีแต่เดิม กัปตันกาเนียร์ผู้นี้ภายหลังได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น ขุนจำนงดิฐการ หรือ ขุนสมุทรโคจร จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และยังเป็นผู้ก่อตั้งกิจการห้างวินด์เซอร์หรือห้างสี่ตา ที่ถนนเจริญกรุง วินด์เซอร์ยังเป็นตระกูลที่มีบทบาทสำคัญในชุมชนโดยเฉพาะในด้านศาสนา เพราะตระกูลวินด์เซอร์ ได้ดำเนินการบูรณะโบสถ์ซางตาครู้ส หลังจากที่เกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ ซึ่งตระกูลวินด์เซอร์ได้ร่วมบริจาคเงินสนับสนุนในการสร้างโบสถ์หลังใหม่ รวมทั้งได้ถวายธรรมาสน์ ที่ฐานสลักคำว่า "Windsor Family" และยังได้ถวายระฆังตีบอกเวลา โดยข้างระฆังสลักชื่อ "Sombun-Louise Windsor" ภายในบ้านวินด์เซอร์ประดับตกแต่งด้วยประตูบานเฟี้ยมแกะเป็นลายนกยูง ซึ่ง สามารถสังเกตเห็นร่องรอยกระสุนที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เสาไม้แกะสลักลวดลายดอกไม้ประดับหัวเสา ช่องลมแกะสลักไม้ฉลุ หน้าต่างเป็นหน้าต่างไม้เปิดคู่ ลูกฟักไม้บานเกล็ด แบ่งเป็น 2 ตอน ตอนล่างเป็นบานกระทุ้งขอสับ กำแพงบ้านเป็นกำแพงอิฐเก่าแก่ ซุ้มประตูมีลวดลายปูนปั้นประดับหน้าจั่วอย่างงดงาม ซึ่งจุดเด่นของบ้านวินด์เซอร์ที่ยังคงได้เห็นในปัจจุบันคือ เป็นบ้านโบราณที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไม่ได้มีการตกแต่ง ดัดแปลง หรือปรับปรุงใหม่แต่อย่างใด จึงเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว อีกทั้งสำหรับนักประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และนักอนุรักษ์ที่ได้เห็นความสวยงามของบ้านวินด์เซอร์ บ้านหลังนี้ตกทอดมาถึงนางสมบุญ วินด์เซอร์ ลูกเจ้าของโรงสีข้าวในย่านคลองบางหลวง ซึ่งสมรสกับนายหลุยส์ วินด์เซอร์ ลูกชายของกาเนียร์ วินด์เซอร์ ซึ่งผู้ที่ได้รับมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบันคือนางสมสุข จูฑะโยธิน เจ้าของโรงเรียนอนุบาลซางตาครู้ส ผู้เป็นทายาทสมบุญ – หลุยส์ วินด์เซอร์ (สมาคมสถาปนิกสยาม. (2552). ทัศนาสถาปัตย์ : “บ้านวินด์เซอร์” เรือนขนมปังขิงแห่งโค้งหัวแหวนแห่งเจ้าพระยา. สืบค้นข้อมูลเมื่อ 3 มีนาคม 2567 จาก http://www.asa.or.th/th/node/100763)
จับต้องได้ : Tangible.
โบราณสถาน : AS : Archeological Site อาคารสถาปัตยกรรมแห่งชาติ
.
เลขที่ : 130 ซอย วัดกัลยาณ์ ต. วัดกัลยาณ์ อ. เขตธนบุรี จ. กรุงเทพมหานคร 10600
กิตติ เชี่ยวชาญ : มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา : 2566 Festival