PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : AA-73000-00029 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

ศิลาจารึกวัดพระงาม
Nakhon Pathom Inscription

ศิลาจารึกดังกล่าว ถูกพบเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ระหว่างการศึกษาพื้นที่ด้านทิศเหนือของเนินโบราณสถานวัดพระงาม ติดกับฐาน ด้านนอกของแนวอิฐที่ก่อสร้างขนานกับฐานด้านทิศเหนือของสถูป ลักษณะการพบศิลาจารึกวางตามยาวหงายด้านหน้าที่มีตัวอักษรขึ้นติดชิดกับขอบด้านนอกเกือบตรงตำแหน่งกึ่งกลางของแนวอิฐที่สร้างขนานกับฐานด้านทิศเหนือของสถูป แนวอิฐนี้สันนิษฐานว่าก่อสร้างขึ้นในระยะหลังเพื่อขยายฐานด้านทิศเหนือของสถูปให้กว้างขึ้น สำหรับลักษณะของศิลาจารึกเป็นแท่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 50เซนติเมตร ยาว 96 เซนติเมตร หนา 14.50 เซนติเมตร สภาพเกือบสมบูรณ์ พื้นผิวด้านหน้าบางส่วนแตกหลุดร่อนบริเวณส่วนขอบด้านขวาและขอบด้านล่าง พื้นผิวส่วนที่เหลือยังคงปรากฏรูปรอยอักษรเต็มพื้นผิวด้านซ้าย นอกจากนี้ยังพบส่วนที่แตกหลุดออกมาเป็นส่วนขนาดเล็กอีก 10 ชิ้น รวมทั้งส่วนที่แตกหลุดร่อนออกมาเป็นชิ้นขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง นางสาวพิมพรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร ระบุว่าศิลาจารึกนี้เขียนด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต มีอายุพุทธศตวรรษที่ 11-12 โดยมีข้อความบางส่วนที่สามารถอ่านได้อย่างชัดเจน กล่าวถึงคำว่า 'ทวารวตีวิภูติ' เป็นเบื้องต้น จึงนับว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจที่สุดในจังหวัดนครปฐมในปัจจุบันสำนักศิลปากรที่ 2 ระบุว่า ศิลาจารึกดังกล่าวอยู่ในระหว่างรอการอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้อ่านข้อความได้อย่างสมบูรณ์โดยล่าสุดได้เคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ทั้งนี้ จุดประสงค์ของโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานวัดพระงามมีเป้าหมายงานด้านโบราณคดี งานย้ายเจดีย์บรรจุอัฐิ และงานเสริมความมั่นคง พบลักษณะโครงสร้างและองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างจึงสามารถสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าเป็นสิ่งก่อสร้างประเภทสถูปสมัยทวารวดี สร้างขึ้นในผังรูปสี่เหลี่ยมยกเก็จหรือกระเปาะซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ขนาดสถูปกว้างประมาณ กว้าง x ยาว 41.50 เมตร มีรูปแบบศิลปะบางประการคล้ายคลึงกับพระประโทณเจดีย์ กลางเมืองโบราณนครปฐม นับเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ในสมัยโบราณคดีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งแห่งหนึ่งในประเทศไทย การค้นพบครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่จะเพิ่มเติมข้อมูลและเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี คือการค้นพบหลักศิลาจารึกบริเวณพื้นที่ฐานด้านทิศเหนือของสถูปวัดพระงาม แผ่นจารึกเป็นหินเถ้าภูเขาไฟรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดยาว 96.3 เซนติเมตร กว้าง 50.2 เซนติเมตร และหนา 14.5เชนติเมตร เป็นหลักศิลาจารึกที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดหลักหนึ่ง ปรากฏข้อความมากที่สุด และมีความชัดเจนงดงามของรูปอักษรมากที่สุดนับตั้งแต่มีการศึกษาจารีก สมัยวัฒนธรรมทวารวดี หลักศิลาปรากฎอักษร 6 บรรทัด จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 จารึกเป็นโศลก บรรทัดละ 4 วรรค ใจความสำคัญของเนื้อหาในจารึกสรุปได้ว่า เป็นการกล่าวสรรเสริญพระราชา ผู้มีความสามารถทรงได้ชัยชนะในสงครามนำความเจริญมาสู่วงศ์ตระกูลและบ้านเมือง มีเมืองทิมิริงคะ เมืองหัสตินาปุระ และทวารวดี เป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วไป ทั้งได้ถวายสิ่งของไว้กับพระศิวะ ได้แก่ ต้นมะม่วงทอง 30 ต้น แม่โค 400 ตัว และลูกนกคุ่ม 156 ตัว ดังได้บันทึกไว้ในแผ่นศิลานี้ จากเนื้อหาในจารึกที่สรุปมาข้างตัน แสดงว่าศิลาจารึกแผ่นนี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชาผู้มีความเก่งกล้าสามารถ ทรงมีชัยชนะในการสงคราม โดยหลักการของการสร้างจารึกก็เพื่อใช้เป็นประกาศ บอกเล่าเรื่องราวของผู้นำหรือพระราชาเพื่อให้หมู่ชนหรือประชาชนในสังคมนั้น ๆได้ทราบเรื่อง จากนั้นก็ประดิษฐานไว้ในที่คนทั่วไปเห็นได้ชัดเจน กรมศิลปากรมอบหมายให้กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบประเภทและองค์ประกอบของหิน คุณสมบัติทางกายภาพและเคมีสาเหตุการเสื่อมสภาพ รวมทั้งดำเนินการอนุรักษ์ด้วยขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์เพื่อรักษาสภาพและเสริมความมั่นคงแข็งแรงให้กับศิลาจารึกนี้ และเมื่อตรวจสอบลักษณะหน้าตัดของตัวอักษร จากชิ้นส่วนผิวศิลาจารึกที่แตกหลุดออก ทำให้เห็นถึงลักษณะของอักษรที่มีความน่าสนใจ ประกอบด้วยร่องอักษรรูปตัววี และตัวยู ความลึกและกว้างที่สม่ำเสมอ ขอบอักษรที่โค้งมนสวยงาม บ่งบอกถึงฝีมือและความสามารถของช่างในการเลือกใช้เครื่องมือเพื่อการสร้างอักษร สันนิษฐานว่าเครื่องมือที่ใช้มีความหลากหลายขึ้นกับความถนัดของช่าง



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องได้ : Tangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

โบราณวัตถุ : AA : Archeological Artefact .

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : วัดพระงาม พระอารามหลวง ต. พระปฐมเจดีย์ อ. เมืองนครปฐม จ. นครปฐม 73000

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏนครปฐม

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

ลัทธสิทธิ์ ทวีสุข : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม : 2566 Open Call

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
-
พิกัด GPS

มีผู้เข้าชมจำนวน :66 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 07/07/2024 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 07/07/2024