กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเจดีย์จุลประโทนเป็นโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 57 วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2483 ในอดีตโบราณสถานที่แห่งนั้นมีลักษณะเป็นเนินอิฐมีต้นไม้ขึ้นปกคลุม และไม่ปรากฏชื่อเรียกสถานที่แห่งนี้อย่างเป็นทางการ มีเพียงแต่ชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากสั้นๆ ว่า เนินหิน เพราะในอดีตบริเวณดังกล่าวเป็นเนินมีอิฐ หิน กระจายอยู่ทั่วไป ต่อมาได้มีการขุดค้นโบราณสถานแห่งนี้อย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ.2582-2483 โดย ปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส แห่งสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (École française d'Extrême-Orient หรือ EFEO) ทำการขุดค้นร่วมกับกรมศิลปากร ภายใต้การนำของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ได้ร่วมกันทำการขุดค้นเจดีย์จุลประโทน ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ค้นพบของเจดีย์จุลประโทน พบเพียงฐานเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีการย่อมุมของฐานเจดีย์เพียงเล็กน้อย แต่ละด้านประดับด้วยพระพุทธรูปยืนปูนปั้น 5 องค์ภายในซุ้มส่วนกลางนี้ตั้งอยู่บนฐานซึ่งมีมีแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสเช่นเดียวกันแต่กว้างกว่าเล็กน้อย ด้านหน้าฐานประดับด้วยลวดบัวและบนมุมที่ยื่นออกไปประดับด้วยมกรเป็นภาพนูน ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่เหนือลานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าลานประทักษิณประกอบด้วยแผ่นภาพ เป็นรูปครุฑและรูปช้างกำลังเดิน ทั้งหมดมีลานล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง บันได 4 ทิศ มีบันไดชั้นล่างเป็นรูปครึ่งวงกลมได้นำขึ้นไปสู่ลานประทักษิณ บันไดนี้มีสิงห์สลักอยู่ที่ด้านข้าง และมีราวบันไดออกมาจากปากของรูปสัตว์ ต่อมา ใน พ.ศ.2511 จากการที่รถแทรกเตอร์ของกรมทางหลวง ที่กำลังก่อสร้างทางหลวงสาย เพชรเกษม เส้นทางระหว่าง กรุงเทพฯ - นครปฐม เนื่องจากมีความประสงค์ที่จะปรับหน้าดินให้เรียบเสมอกัน เพื่อใช้สำหรับเป็นที่เก็บเครื่องจักรของกรมทางหลวง ระหว่างที่เครื่องจักรกำลังดำเนินการอยู่นั้นก็บังเอิญได้ขุดเอารูปแผ่นภาพปูนปั้นและดินเผาที่อยู่ใต้พื้นดินขึ้นมาอย่างมิได้ตั้งใจ เจ้าอาวาสวัดพระประโทณเจดีย์ในขณะนั้นเมื่อทราบเรื่องจึงได้พยายามที่จะนำไปเก็บรักษาไว้โดยที่นำไปติดไว้ที่เจดีย์ในวัดพระประโทณ ทางกรมศิลปากรเมื่อทราบเรื่องจึงได้เริ่มทำการขุดค้นขึ้นเป็นครั้งที่ 2 และนำโบราณวัตถุที่ค้นพบได้ไปจัดเก็บไว้เป็นหลักฐานเป็นกรณีศึกษาในขั้นต่อไป เพื่อป้องกันการชำรุดและถูกทำลาย โดยนำโบราณวัตถุที่ค้นพบได้ไปจัดเก็บไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และต่อมาจึงนำโบราณวัตถุดังกล่าวกลับมาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ โดยที่ยังคงหลงเหลือโบราณวัตถุบางส่วนที่นำไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เนื่องจากการศึกษาเรื่องราวของเมืองนครปฐมโบราณ โดยเฉพาะประเด็นของเจดีย์จุลประโทนได้รับความสนใจจากนักวิชาการที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องอาณาจักรทวารวดี โดยจัดเป็นเจดีย์สำคัญในสมัยทวารวดี และจัดเป็นต้นแบบสำหรับการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะโบราณวัตถุสถานแบบทวารวดีที่พบจากเมืองอื่นๆ ต่อมา ใน พ.ศ. 2517 นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวไทย ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้ศึกษาและวิจัยความภาพเล่าเรื่องที่ปรากฏบนประติมากรรมดินเผาและปูนปั้น ที่ขุดพบที่เจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม ใน พ.ศ. 2511 และเสนอเป็นบทความเรื่อง "พุทธศาสนนิทานที่เจดีย์จุลประโทน โดยสรุปว่าเป็นภาพเล่าเรื่องในอวทานของพุทธศาสนานิกายมูลสรรวาสดิวาท ซึ่งใช้คัมภีร์สันสกฤต แสดงให้เห็นว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 พุทธศาสนานิกายหินยาน ซึ่งใช้คัมภีรัภาษาสันสกฤตคงจะเคยรุ่งเรืองอยู่ในอาณาจักรทวารวดี อย่างไรก็ตาม อาจารย์ ดร.นันทนา ชุติวงศ์ มีความคิดเห็นต่างกันไป และเสนอบทความเรื่อง "ภาพชาดกที่เจดีย์จุลประโทน" ลงตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปากร โดยระบุว่าพุทธศาสนานิทานที่ปรากฏอยู่ที่เจดีย์จุลประโทนนั้น มิได้เป็นนิทานของนิกายมูลสรรวาสติวาทหรือของพุทธตาสนานิกายหนึ่งใดโดยเฉพาะ นิทานเหล่านี้มีต้นกำเนิดอยู่ในสมัยก่อนที่พระพุทธศาสนาจะได้แตกแยกออกเป็นหลายต่อหลายนิกาย และสรุปไว้ว่าประชาชนชาวทวารวดีนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท เนื่องจากได้พบว่าจารึกที่เกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนานั้น บรรจุข้อความซึ่งยกมาจากพระอรรถกถา ภาษาบาลีของนิกายเถรวาททั้งสิ้น สำหรับอิทธิพลของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งได้แพร่มาจากภาคเหนือของประเทศอินเดียนั้น มิได้มีความหมายมากนักต่อดินแดนที่มีการนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทอย่างลึกซึ้งเช่นชาวทวารวดี ต่อมา ใน พ.ศ. 2518 ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในหัวข้อว่า "The Chula Pathon Cedi Architecture and Sculpture of Dvaravai" และได้นำเสนอข้อมูลการกำหนดอายุเจดีย์จุลประโทนใหม่ ดังนี้ ระยะแรกของเจดีย์ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 ซึ่งกำหนดจากการศึกษารูปแปลนเจดีย์ประกอบกับลวดลายประดับตกแต่ง โดยการเปรียบเทียบกับเจดีย์แบบคุปตะของอินเดียและมีความเห็นว่าประติมากรรมปูนปั้นและดินเผานั้น ใช้ประดับเจดีย์ในระยะแรกและไม่ใช่ภาพชาดกจากคัมภีร์ภาษาบาลี แต่เป็นภาพเล่าเรื่องจากอวทานของพุทธตาสนาหินยาน นิกายมูลสรรวาสติวาท และไม่มีอิทธิพลของศิลปะศรีวิชัย ส่วนอิฐสลักระบายสีนั้นเป็นอิฐก่อผนัง การก่อสร้างในระยะที่ 2 โดยกำหนดอายุในราวพุทธศดวรรษที่ 12 และระยะที่ 3 ของเจดีย์นั้นได้รับการต่อเติมในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 12 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 13 นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ซอง บวสเซลิเย่ ได้เสนอความคิดเห็นว่า ระยะแรกของเจดีย์จุลประโทนสร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนานิกายหินยาน (เถรวาท) ส่วนระยะที่ 2 เป็นอิทธิพลนิกายมหายานจากอินโดนีเซีย และระยะที่ 3 กลับเป็นคติหินยานตามเดิม ส่วน ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ว่าระยะแรกเป็นอิทธิพลของพุทธศาสนานิกายหินยานที่ใช้ภาษาสันสกฤต ส่วนระยะที่สองและสามนั้นเป็นพุทธศาสนานิกายหินยานที่ใช้ภาษาบาลี
จับต้องได้ : Tangible.
โบราณวัตถุ : AA : Archeological Artefact .
เลขที่ : เจดีย์จุลประโทน ต. ธรรมศาลา อ. เมืองนครปฐม จ. นครปฐม 73000
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏนครปฐม
ลัทธสิทธิ์ ทวีสุข : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม : 2566 Open Call