สะพานขอมโบราณ สะพานขอมโบราณ ตั้งอยู่ ณ ถนนนิตโตจังหวัดสกลนคร สภาพปัจจุบันและในอดีตเมื่อครั้งกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมาตรวจราชการที่เมืองสกลนคร 15 มกราคม 2449 สะพานขอมหรือสะพานหิน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองสกลนคร ก่อด้วยศิลาแลง กว้าง 4 เมตร ยาว 16 เมตร เดิมมีความสูงจากพื้นล่างประมาณ 2-3 เมตร ด้านบนของตัวสะพานทำเป็นพื้นเรียบ ยกขอบศิลาแลงเป็นคันขึ้นมาทั้งสองข้าง ฐานสะพานก่อศิลาแลงเป็นช่อง 11 ช่อง เพื่อรับน้ำหนักด้านบนและเป็นช่องให้น้ำไหลผ่านได้ แต่เดิมเชื่อว่าเป็นสะพานข้ามลำน้ำห้วยโมงที่ไหลมาจากทางทิศตะวันตกไปสู่หนองหาร โดยสะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของคันดินถนนโบราณ ที่เป็นเส้นทางสัญจรระหว่างชุมชนในเมืองกับนอกเมืองคือไปสู่ชุมชนบ้านนาเวง ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร โดยมีหลักฐานปรากฏเมื่อครั้งปี พ.ศ.2449 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระองค์ได้เสด็จตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา และมณฑลอุดรอีสาน ได้นิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่องเที่ยวที่ต่างๆ ภาคที่ 4 เกี่ยวกับเมืองสกลนครไว้ว่า วันที่ 15 มกราคม ขี่ม้าไปบ้านนาเวง ระยะทาง 15 เส้น ไปตามถนนขอมสร้างไว้แต่ดึกดำบรรพ์ มีสะพานหินเป็นสพานศิลาแลง ฝีมือขอมทำดีน่าดูอยู่แห่ง 1 เป็นของสมัยเดียวกันกับเทวสถาน ที่ตำบลนาเวงมีเทวสถานเรียกว่า “อรดีมายานารายณ์เจงเวง” ตั้งอยู่บนเนินซึ่งมีซุ้มไม้ร่มรื่นดี..”คันดินถนนโบราณ ตลอดจนถึงลำห้วย ได้ถูกแปลงสภาพไปหมดแล้ว จึงทำให้ไม่สามารถมองเห็นหน้าที่ดั้งเดิมของสะพานแห่งนี้ได้ อยู่ก่อนเข้าตัวเมือง เป็นโบราณสถานเล็ก ๆ ริมถนนสายนิตโย ถนนเส้นทางหลวงหมายเลข 22 ใกล้กิโลเมตรที่ 161 เส้นสกลนคร-อุดรธานี ประวัติความเป็นมา สะพานหินถือเป็นโบราณสถานและขึ้นทะเบียนกรมศิลปากรไว้เมื่อ พ.ศ. 2478 ในสมัยนั้นสะพานหินกว้าง 4 เมตร ยาว 16 เมตร สาเหตุที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเพราะมีคนเรียกว่า "สะพานขอม" ต่อมานายกเทศมนตรีท่านหนึ่ง (นายกเทศมนตรีคนที่ 2 ของจังหวัดสกลนคร) พิจารณาเห็นว่าสะพานหินอยู่ขวางเส้นทางถนนทำให้ถนนคดโค้ง เพราะต้องหลบสะพานหินจึงได้ใช้หินลูกรังกลบทับสะพานหิน ซึ่งเป็นก้อนหินธรรมชาติขนาดใหญ่นั้นทิ้งหมด แต่ยังไม่ทันสร้างถนนตัดผ่านสะพานหินแต่อย่างใด ครั้นเมื่อหมดสมัยนายกเทศมนตรีผู้นั้นแล้ว นายกเทศมนตรีคนใหม่ก็เข้ามาดำเนินการขุดเอาดินลูกรังออก และเห็นว่าสะพานของเดิมชำรุดมากจึงของบประมาณกรมศิลปากรมาสร้างใหม่แทนของเดิม โดยใช้ก้อนหินศิลาแลงมาก่อให้เป็นรูปสะพาน มีบันไดขึ้นลง 3 ขั้น ลักษณะทั่วไป โดยความเป็นจริงแล้วสะพานหินของดั้งเดิมมิได้เกี่ยวข้องกับการสร้างในคติขอมแต่อย่างใด เพียงทำเป็นสะพานเพื่อให้กระแสน้ำจากหนองสนม ซึ่งรับน้ำจากภูพานไหลผ่านลงหนองหานเท่านั้น ในช่วงนั้นอาจใช้สะพานเป็นทางเดินผ่านออกจากตัวเมืองสกลนครไปยังนอกเมือง ทั้งนี้เพราะที่ตั้งของเมืองสกลนครเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมขังง่าย การทำสะพานจึงมีความจำเป็นสำหรับการสัญจรของผู้คน บริเวณสะพานจะมีสถานพักผ่อนของชาวสกลนครเรียกว่า "ลานร่วมน้ำใจ" เป็นจุดที่สามารถชมสะพานหิน ชมประตูเมืองสกลนครซึ่งประดิษฐานรูปหล่อของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร และหลวงพ่อพระองค์แสนซึ่งมีความงดงามยิ่ง และเป็นที่ที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ เสด็จมากราบสักการะทุกครั้งที่ทรงแปรพระราชฐานมายังพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เส้นทางเข้าสู่สะพานหิน สะพานหินอยู่ริมถนนนิตโย ซึ่งเป็นถนนสายสกลนคร-อุดรธานี บริเวณปากทางเข้าออกตัวเมืองสกลนคร เมื่อเข้าตัวเมืองสกลนคร สะพานจะอยู่ด้านขวามือ แต่เมื่อออกจากตัวเมืองสกลนครสะพานจะอยู่ซ้ายมือ
จับต้องได้ : Tangible.
โบราณสถาน : AS : Archeological Site ซากโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีประวัติศาสตร์แห่งชาติ
.
เลขที่ : ธาตุเชิงชุม ต. ธาตุเชิงชุม อ. เมืองสกลนคร จ. สกลนคร 47000
พจนวราภรณ์ เขจรเนตร.(2564).ร่องรอยอารยธรรมเขมรในสกลนคร.เชียงใหม่:หจก.วนิดาการพิมพ์.
-
tanawadee : มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร : 2566 Open Call