วัดประดู่ทรงธรรมเป็นวัดราษฎร์ในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการสร้างวัดแต่เป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเพราะมีกล่าวถึงในพงศาวดารว่าพระสงฆ์ของวัดนี้ 8 รูปได้ช่วยเหลือพระเจ้าทรงธรรมหลบหนีกบฏชาวญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2153 เดิมบริเวณที่ตั้งวัดประดู่ทรงธรรมเป็นที่ตั้งของวัดประดู่วัดหนึ่งและวัดโรงทาน (วัดโรงธรรม) อีกวัดหนึ่งก่อนจะรวมกันเป็นวัดประดู่ทรงธรรมในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการปฏิสังขรณ์ใหญ่ใน พ.ศ. 2405 โดยกรมพระพิทักษ์เทเวศร์และพระพุทธสร สำหรับภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารนั้นอาจเป็นภาพที่เขียนมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและมีการเขียนซ่อมในรัชกาลที่ 5 หรืออาจเขียนใหม่หมดเลยในรัชกาลที่ 5 ก็ได้ โดยมีเรื่องเล่าสืบกันมาว่าพระยาโบราณราชธานินทร์ได้สั่งให้ช่างคัดลอกภาพจิตรกรรมจากวัดยมลงบนสมุดข่อยแล้วนำมาเขียนในวิหารวัดประดู่ทรงธรรม สมุดเล่มที่คัดลอกภาพยังเก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติจนทุกวันนี้ น่าเสียดายที่ภาพส่วนใหญ่เลอะเลือนเสียเกือบหมดแล้ว เหลือแต่ผนังด้านตรงข้ามพระประธานที่เขียนพุทธประวัติที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่มาก ด้านหลังพระประธานเป็นภาพจำลองจักรวาลในคติไตรภูมิ ผนังฝั่งประตูทางเข้าเขียนพุทธประวัติ สำหรับผนังด้านข้างทั้งสองด้านเขียนเรื่องทศชาติไว้ระหว่างหน้าต่างด้านขวาพระและเขียนเรื่องเวสสันดรชาดกไว้ด้านซ้ายพระ ส่วนผนังที่อยู่เหนือหน้าต่างนั้น 2 แถวล่างเป็นขบวนพยุหยาตราแทรกด้วยวิถีชีวิตชาวบ้าน เหนือขึ้นไปเป็นเทพชุมนุม 2 แถว เหนือเทพชุมนุมขึ้นไปไม่แน่ใจว่าเคยมีภาพหรือทิ้งว่างไว้เหมือนที่เห็นในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพบภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนเรื่องราวของการแสดงโขนสดในงานมหรสพของกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการแสดงโขนมีจุดเริ่มต้นมาตั้งตั้งแต่สมัยอยุธยา
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
โบราณวัตถุ : AA : Archeological Artefact ประวัติศาสตร์
.
เลขที่ : วัดประดู่ทรงธรรม ต. หัวรอ อ. พระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา 13000
เจ้าอาวาสวัดประดู่ทรงธรรม
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย : 2567 Opencall