PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : TC-10540-00052 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

อู่ต่อเรือพื้นบ้านเทพสุนทร ตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ
Thepsunthon Local Shipyard

ท่ามกลางการโอบล้อมด้วยมหาวิทยาลัยที่สง่างาม ในอำเภอบางเสาธง ริมคลองบางเซา ที่ไหลผ่านกลางมหาวิทยาลัย มีบ้านที่เป็นอู่ต่อเรือพื้นบ้าน คนที่ชอบและหลงรักเรือต่างรู้จักอเสียงของอู่เรือแห่งนี้ คืออู่เรือเทพสุนทร ชื่ออู่เทพสุนทร เป็นชื่อของคุณสุนทรและคุณสุเทพ อินทะโพธิ์ ซึ่งเป็นพ่อและอาของคุณมณเฑียร อินทะโพธิ์ คนเรือหรือคนรักเรือรู้จักกันในนาม ช่างเทียน ปัจจุบันอายุ 52 ปี ช่างเทียน เล่าว่า เดิมพ่อและอาเคยทำอาชีพต่อเรืออยู่กับน้าตี๋ อู่โชว์ศิลป์ ที่คลองบางนา แล้วก็ไปอยู่กับโกตี๋ที่คลองด่าน ทำให้พ่อและอามีวิชาการต่อเรือติดตัวมา ช่างเทียนยึดอาชีพการต่อเรือมาจากบิดา ในอดีตอู่เทพสุนทรก็จะต่อเรือประเภทใช้งานเป็นหลัก เพราะในอดีตเรือนับว่าเป็นยานพาหนะที่สำคัญของคนบางเสาธงที่มีวิถีอยู่กับริมคลองและสายน้ำ จึงมีเรือหลากหลายประเภท และเมื่อการคมนาคมขนส่งเปลี่ยนไป มีถนนหนทางและความเจริญเข้ามาในพื้นที่ทำให้การใช้เรือถูกลดบทบาทลงไปจนเกือบทุกบ้านแทบจะขายเรือและหันมาซื้อรถกันหมด แต่ยังมีคนบางส่วนที่ยังเก็บเรือไว้ให้ลูกหลานได้ดูในอู่เรือแต่ไม่ได้ใช้งาน และยังมีหลายคนที่หลงใหลเรือ ยานพาหนะคู่ใจกับสายน้ำมาอย่างยาวนาน ช่างเทียนเล่าว่า เขายึดอาชีพการต่อเรือมาจากพ่อ โดยเห็นพ่อทำมาตั้งแต่เด็กและก็เป็นลูกมือของพ่อมาตลอด ช่วยพ่อจับ ช่วยพ่อทำ โดยมีพ่อค่อยชี้แนะบอกกล่าว ทำตามแบบมาเรื่อย ๆ จนเมื่อตัวเองอยู่ชั้นป.6 โรงเรียนวัดเสาธงกลาง อายุประมาณ 13-14 ปี ก็สามารถต่อเรือได้ด้วยฝีมือของตนเอง โดยมีพ่อคอยกำกับและแนะนำ ลักษณะเรือที่ต่อนั้นเป็นเรือสองตอนเล็ก ซึ่งขายได้ในตอนนั้นราคาประมาณ 4,000 บาท (ประมาณ พ.ศ.2528) หากเปรียบเทียบขนาดเรือกับราคาในปัจจุบันก็จะอยู่ที่ราคาประมาณ 15,000 บาท ช่างเทียนบอกว่าภูมิใจมาก ขณะเล่าไปใบหน้าก็ยิ้มและภูมิใจไป เราสังเกตได้จากแววตาและสีหน้าที่ปรากฏออกมา ขั้นตอนการต่อเรือ เริ่มจากการไปหาซื้อไม้จากโรงไม้ ซึ่งจะไปหาซื้อมาจากโรงไม้ที่ตลาดคลองสวน เป็นไม้อัด ไม้มะยม หรือไม่ก็ที่ร้านยืนยง ตลาดบางบ่อ ร้านโกตี๋ ตลาดคลองด่าน ร้านสมคิดค้าไม้ ตลาดสี่แยกลาดกระบัง หรือที่บางขุนเทียน เมื่อได้มาก็จะนำไม้ทั้งหมดไปตากแดดให้แห้ง และวาดแบบตามขนาดของเรือที่พ่อเคยวาดไว้ให้ แล้วกเลื่อย ตัดแต่ง เข้าประกอบเป็นโครงเรือ ไม่ว่าจะเป็นประกอบข้าง แนวข้าง กงตั้ง แล้วเอามาตั้งลำ ตีวง ตัดกงนอน ตีบัวให้สวย เข้ากรุใน ดาดฟ้า เสร็จแล้วก็คว่ำเรือ แต่งท้องเรือ แนวท้อง ตอก ทาสีเล่นลวดลาย ช่างจะถามเจ้าของเรือว่าชอบโทนสีอะไร แล้วก็เป็นหน้าที่ของช่างที่จะวาดลวดลายทาสีให้เรือลำนั้น โดยไม่ลืมที่จะใส่ชื่อเรือตามที่เจ้าของต้องการ และมีชื่อช่างอู่ต่อเรือเทพสุนทรไว้ที่ข้างเรืออย่างสวยงาม ลักษณะการว่าจ้างต่อเรือจะเป็นการว่าจ้างแบบปากต่อปาก ไว้เนื้อเชื่อใจกัน โดยไม่มีการทำสัญญาว่าจ้างแต่อย่างใด เพียงแต่ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายค่ามัดจำล่วงหน้าก่อนประมาณ 30 % ของราคาเรือที่ว่าจ้างกัน ต่อจากนั้น ก็จะอยู่ที่ช่างว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไร ตามคิวที่ว่าจ้าง โดยขณะนี้มีคิวที่ว่าจ้างเรือของอู่เทพสุนทรต่อนั้นอีกประมาณ 30 ลำ ขนาดของเรือ ปัจจุบันที่อู่เทพสุนทร ต่อเรือมีขนาดตั้งแต่เล็กสุด ไปจนถึงใหญ่สุด ดังนี้ 1. เรือโมเดลขนาดเล็กสุด ลักษณะเป็นเรือบังคับ 2. เรือสองตอนเล็ก ไซซ์จูเนียร์ 3. เรือท้องตอน เป็นเรือใส่เครื่อง Honda 4. เรือกะบะ ขนาด 11 ศอก ใส่สามสูบ ใส่เครื่อง Honda 13 แรง หรือขนาด 3 วา สอง ใส่เครื่อง Toyota ซึ่งมีหัว 19 -20-25 แล้วแต่ขนาด มี 3 ขนาด 5. เรือสองตอนใหญ่ ซึ่งเป็นเรือโดยสารขนาด 10-12 ที่นั่ง เรือสองตอนใหญ่ สนนราคาอยู่ที่แปดหมื่นกว่าบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมเครื่องเรือ ช่างเทียนบอกว่า แหล่งรวมศูนย์เครื่องเรือจะอยู่ที่ตลาดบางพลีน้อย เช่น เฮงบริการ สุวรรณโชคชัย ช.รัตนเจริญพร ช่างตาเถียร ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีช่างตามบ้านที่รับแต่งเรืออีกมากมายเพื่อจะทำให้เรือมีความเร็วและแรงขึ้น บางเครื่องอาจจะอยู่ที่สองแสนกว่าบาท พิธีกรรมและความเชื่อในการต่อเรือ ที่อู่เทพสุนทรจะมีการทำบุญประจำปีทีอู่ นิมนต์พระมาสวดมนต์ และทำน้ำมนต์เพื่อประพรมเครื่องมือต่อเรือและบริเวณอู่เรือ เพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนความเชื่อในการต่อเรือก็ไม่ได้เคร่งครัดมากนัก เนื่องจากมองว่าไม้ที่นำมาทำนั้นมาจากโรงงานหรือโรงค้าไม้ที่ตัดมาเรียบร้อยแล้ว จะมีความเชื่อการนำเรือลงน้ำ ก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคล ส่วนใหญ่จะมีผ้าสามสี พวงมาลัย ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำแดง เป็นต้น หากบ้างคนก็อาจจะมีเป็ด ไก่ หัวหมู เหล้า เพิ่มเติม ซึ่งแตกต่างกันไปตามความเชื่อและศรัทธาต่อการเคารพต่อแม่ย่านางเรือ ทุกวันนี้ช่างเทียนยังคงยึดอาชีพการต่อเรือมาตั้งแต่คุณพ่อจากไปและยังคงใช้ชื่ออู่เทพสุนทรเช่นเดิม โดยมีภรรยาคือพี่มัลลิกา อินทะโพธิ์ (พี่อ้อ) เป็นเพื่อนคู่คิดและเป็นทุกอย่าง นอกจากนี้ยังถ่ายทอดภูมิปัญญานี้ให้กับทายาท คือลูกชาย นายจักรพงษ์ อินทะโพธิ์ (ช่างม่อน) อายุ 24 ปี ซึ่งมีใจรักในงานช่างต่อเรือนี้ โดยช่างม่อนกล่าวว่า ตนเองเห็นเรือมาตั้งแต่เกิด ตั้งแต่รุ่นปู่ มารุ่นพ่อ ตนเองเลยมีความสนใจและชื่นชอบที่จะเป็นช่างต่อเรือ ในขณะที่พี่ชายเป็นคนชอบขับเรือ แต่ช่างม่อนเป็นคนชอบต่อเรือให้พี่ชายขับ ม่อนรู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้งที่พูดถึงเรือ โดยม่อนกล่าวว่า ตนเองเรียนกับพ่อโดยเป็นลูกมือของพ่อจับโน่นทำนี่จนเป็น เห็นภาพทุกอย่างที่พ่อทำ โดยเริ่มจากพ่อให้ไสไม้ ประกอบ ขึ้นรูป ทำตามรอยพ่อจนชำนาญ โดยม่อนต่อเรือได้ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นม. 1 โรงเรียนวัดเสาธงกลาง ทุกวันนี้เรียนจบชั้นม.3 แต่ก็ภูมิใจมากที่ยึดอาชีพเป็นช่างต่อเรือจากพ่อ โดยเห็นว่าเรือเป็นวิถีชีวิตของคนบางเสาธง อยากให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรือที่เป็นภูมิปัญญาของคนบ้านเรา และอยากให้คนที่มาอยู่ในพื้นที่นี้เข้าใจวัฒนธรรมของชาวเรือ ปัจจุบันอู่เทพสุนทร ยังคงสืบสานการต่อเรือ และยังคงเอกลักษณ์ภูมิปัญญาในเชิงช่าง จากคนรุ่นพ่อยังรุ่นลูก และยังสืบต่อให้รุ่นหลาน ให้ภูมิปัญญานี้อยู่คู่กับท้องที่บางเสาธง สถานที่ติดต่ออู่เทพสุนทร บ้านเลขที่ 67/2 หมู่ 8 ตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ 10570



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องไม่ได้ : InTangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

งานช่างฝีมือดั้งเดิม : TC : Traditional Craftsmanship งานศิลปกรรมพื้นบ้าน
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : บ้านเลขที่ 67/2 หมู่ 8 ต. บางเสาธง อ. บางเสาธง จ. สมุทรปราการ 10540

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

คุณมณเฑียร อินทะโพธิ์

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

โทร 086 563 7685

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

หฤษฏ์ โตพันธุ์ : มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ : 2566 Advance Track

พิกัด GPS

มีผู้เข้าชมจำนวน :81 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 09/09/2024 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 09/09/2024


BESbswy