PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : TC-10540-00053 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

อู่ต่อเรือพื้นบ้านพิชิตศิลป์ ตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่ อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ
PichitSilp Local Shipyard

หากย้อนไป 30 ปี ในย่านบางเสาธง เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินชื่อเสียงของช่างอ้วน คลองตาปู ต.ศีรษะจรเข้ใหญ่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ช่างอ้วนเป็นผู้ฝีมือในการต่อเรือจนนักสืบวัฒนธรรมได้แจ้งทีมนักวิจัยสามบางสองฝั่งคลอง เพื่อสัมภาษณ์เก็บข้อมูลไว้เป็นมรดกของท้องถิ่น ช่างอ้วน หรือนายสมชาย ศรีเผือก เจ้าของอู่ต่อเรือ พิชิตศิลป์ อายุ 66 ปี เป็นคนคลองตาปู อยู่บ้านเลขที่ 19/1 หมู่ 8 ตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่ อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ช่างอ้วนเล่าว่า ด้วยใจรักและจินตนาการที่มองเห็นภาพของเรือ จึงอยากต่อเรือได้ สมัยวัยรุ่นก็ไปซื้อไม้มา ตั้งใจจะต่อเรือเอง เมื่อคุณพ่อ (นายบุญช่วย ศรีเผือก) รู้ว่าจะต่อเรือ (ขณะนั้นคุณพ่อของช่างอ้วนบวชอยู่) ท่านบอกว่ารอให้ท่านสึกก่อนแล้วค่อยต่อ แต่ด้วยความเชื่อมั่นว่าตัวเองทำได้จึงไม่เชื่อ ด้วยใจรัก ครูพักลักจำ คาดคะเนด้วยสายตา ก็ต่อเรือเองได้ ช่วงนั้นอายุประมาณ 17-18 ปี โดยต่อเรือลำแรกเป็นเรือกระบะ ท่านเล่าว่า ในอดีตคนมักจะต่อเรือเพื่อไว้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเรือคอน เรืออีแปะ เรืออีโปงและอื่น ๆ การต่อเรือจะเน้นเพื่อประโยชน์ใช้งาน ผิดกับปัจจุบันซึ่งเน้นไปที่เรือที่สวยงามแข่งกันเรื่องความเร็ว การต่อเรือต้องอาศัยจินตนาการ ทักษะและความชำนาญ ทรงต้องสวย ทางน้ำต้องดี ซึ่งส่วนใหญ่ช่างแต่ละคนก็จะเก่งเฉพาะด้าน แต่ก็มีที่สามารถทำได้ละเอียดทุกขั้นตอน ซึ่งต้องแล้วแต่ฝีมือของช่างแต่ละคน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ถือว่าชื่อของช่างอ้วนก็ติดอันดับ ผู้ที่มีฝีมือท่านหนึ่ง และต่อเรือได้หลายชนิด โดยดูจากผู้มารับบริการต้องกลับมาให้ต่อเรืออีกลำอยู่เป็นประจำ หรือต้องนำเรือมาซ่อมที่อู่ของช่างอ้วน ช่างอ้วนเคยเลิกต่อเรือไปสัก 5-6 ปี เนื่องจากเบื่อและล้ากับการทำงานที่ทำอยู่ประจำ แต่สุดท้ายเมื่อเห็นงานเกี่ยวกับเรือ ใจก็โหยหาเรือ สุดท้ายก็กลับมาต่อเรืออีก เพราะใจรักงานช่างนี้ เรือจะสวยอยู่ที่สรีระและรูปทรงซึ่งก็เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย หากย้อนไปในอดีต 30 ปี เรือที่ต่อก็จะเป็นเรือที่ไว้ใช้งานต้องใหญ่ หนาและทนทาน เพราะเรือเอาไว้บรรทุกข้าว ปลา พืชผักผลไม้ ฯลฯ สรีระรูปทรงของเรือจึงต้องใหญ่ใช้งานได้ดี แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปรูปทรงของเรือต้องสวย เพรียวและแรง ทุกอย่างต้องสมบูรณ์เหมือนสาวที่ต้องสวยหุ่นดี ต่อมาเมื่อเรือถูกลดบทบาทลง เพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เรือกลายเป็นของเล่นของคนที่รักเรือ จากการสอบถามถึงกระบวนการต่อเรือ ก็เริ่มจากการไปเลือกซื้อไม้ ซึ่งช่างอ้วนจะให้ความพิถีพิถันกับการคำนวณ ประมาณการการใช้ไม้ และการจัดหาวัสดุมาต่อเรือเพื่อให้เกิดการสูญเปล่าให้น้อยที่สุด ซึ่งมักจะซื้อไม้ที่ร้านคิ้มหยงหลี ตลาดคลองสวน หรือบางทีต้องไปถึงโรงเลื่อยที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บางบัวทอง ปากเกร็ด นนทบุรี วังน้อย อยุธยา ฯลฯ การเลือกไม้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่างอ้วนให้ความสำคัญมาก จะไม่ใช้ทิ้งขว้าง ต้องคำนวณประมาณการให้ดี เพราะจะส่งผลต่อราคาค่าใช้จ่ายในการแต่งเรือทั้งสิ้น พวกเราสังเกตโรงต่อเรือสะอาดเรียบร้อยเป็นระเบียบมาก เรือที่ต่อกันในปัจจุบันไม่ใช่เรือใช้งาน แต่เป็นเรือที่ใช้แข่งขันประชันความเร็วกัน ประเภทเรือแต่ง เรือซิ่ง ซึ่งนับวันราคาตกแต่งเรือก็จะสูง เพราะคนหันมาให้ความนิยมเรือประเภทนี้กันมาก สนนราคาเครื่องเรือ ลำหนึ่งประมาณ 2-3 แสนบาทกันเลยทีเดียว แต่ที่สำคัญช่างอ้วนบอกว่า ช่างต่อเรือใจต้องรักจึงจะทำงานนี้ได้สำเร็จ เพราะต้องใช้ความละเอียด ประณีตและใช้เวลานาน เมื่อซื้อไม้มาแล้ว ก็ต้องมาไสไม้ตากแดด หรือถ้ามาจากโรงไม้ที่เลื่อยมาแล้ว ก็ต้องเตรียมการประมาณการให้ถี่ถ้วน เพราะทุกอย่างเป็นต้นทุน ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่คร่ำหวอดมากับการต่อเรือ โดยช่างอ้วนเริ่มทำเป็นอาชีพเมื่อประมาณปี 2523 บางครั้งก็เบื่อ ถึงขนาดเคยเลิกไป 5-6 ปี แต่ด้วยคนใจรักในเรื่องนี้ จึงได้หวนกลับมาต่อเรืออีกครั้ง เพราะมันคือความสุขและจิตวิญญาณของคนรักเรือ เพราะรู้สึกว่าทำแล้วมีความสุข โดยทุกครั้งที่ขับเรือ รู้สึกเหมือนมีอิสระ อาชีพต่อเรือของช่างอ้วนไม่ได้เป็นอาชีพหลัก แต่ยึดอาชีพเกษตรกรรม แต่งานต่อเรือเป็นอาชีพรองที่รักมาก และใช้เลี้ยงครอบครัวส่งลูกเรียนจนสำเร็จการศึกษามาจนทุกวันนี้ แม้ลูก ๆ จะให้เลิก แต่เมื่อทำก็มีความสุข การต่อเรือของช่างอ้วนจึงค่อยข้างพิถีพิถันลงรายละเอียดเป็นอย่างมาก เมื่อถามว่าได้มีการสืบทอดภูมิปัญญาเหล่านี้ให้กับใครหรือไม่ ช่างอ้วนตอบว่า ท่านไม่รับช่างหรือลูกมือมาอยู่กับท่านประจำ เพราะท่านเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของครอบครัวด้วย และเมื่อสอนให้เขา เมื่อเขาทำได้ก็ไปกันหมด ท่านก็ต้องมาเริ่มใหม่สอนใหม่ สู้เอาเวลามาทำเองดีกว่า ดังนั้นทุกอย่างจึงเป็นงานช่างในครอบครัวที่คนในบ้านช่วยกันทำ โดยมีแม่บ้านศรีภรรยาอยู่เคียงข้างและช่วยเก็บงานรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ปัจจุบัน การสืบทอดนี้มีลูกชายหันมาให้ความสนใจเรียนรู้ คือนายชรินทร์ ศรีเผือก อายุ 43 ปี ซึ่งเริ่มมาสนใจทำงานในรายละเอียดและเรียนรู้ไปได้ คนที่จะมาว่าจ้างต่อเรือ ต้องคุยกันก่อนว่ารอได้ไหม เพราะจะทำได้เท่าที่ไหว ถ้ารอได้ก็โอเค การว่าจ้างก็ไม่มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด แต่จะมีการว่าจ้างกันด้วยปากเปล่า และวางมัดจำไว้ส่วนหนึ่ง เสร็จเมื่อไรก็พูดคุยกันได้ แต่ช่างอ้วนพอจะมีความรู้เรื่องความเชื่อทางโหราศาสตร์ที่มีติดมาจากพี่ชาย ท่านจะให้คำแนะนำว่า การออกเรือต้องดูฤกษ์ยามบ้าง เช่นหากเป็นเรือโดยสาร ให้ออกวันจันทร์ เพราะถือว่าวันจันทร์เป็นขวัญเรือ เหมาะกับเรือหากินเป็นเรือโดยสาร วันเสาร์ วันพุธ ไม่ดี จะเป็นดาวเคราะห์ เป็นต้น ส่วนการไหว้แม่ย่านางเรือ ก็แล้วแต่ความเชื่อของบุคคล หากไหว้ ก็ต้องทำพิธีตอนเอาเรือลงน้ำ ก็พูดและไหว้ด้วยสิ่งของมงคลที่ดีๆ ที่แม่ย่านางเรือโปรด ท่านพูดติดตลกว่า “แม่ย่านางเรืออยู่ที่คนจ่ายเงิน” แต่ในการต่อเรือหากเป็นไม้ตะเคียน ท่านเชื่อว่าต้องมีพิธีกรรม หากแต่เป็นไม้ที่มาจากโรงไม้ ไม่ได้เป็นเรือขุด ท่านก็มองว่าไม่จำเป็นต้องมีพิธีกรรมใด ๆ ส่วนใหญ่คนจะมาว่าจ้างต่อเรือเมื่อใกล้เข้าพรรษา หรือน้ำจะมา แล้วทุกคนในย่านนี้ต้องเอาเรือลงน้ำเพื่อซ้อมกันก่อน เพื่อไปให้ทันงานรับบัวบางพลี ซึ่งช่างก็บอกว่า ท่านเข้าใจคนอยากที่จะเล่นเรือ ดังนั้นท่านจะให้เสร็จก่อนถึงงานให้ได้ เพราะท่านก็เป็นคนรักเรือ จึงเข้าใจคนชอบเรือที่จะเอาเรือไปอวดโฉม และประลองความเร็วกันในงานรับบัว กระแสตอนนี้ไม่ใช่แค่วัยรุ่นที่สนใจเล่นเรือ สมัยใหม่ เรือซิ่ง ประลองความเร็วเท่านั้น แต่หากคนรุ่นเก่าก็หันมาเล่นเรือ และมีทุนทรัพย์ในการประดับตกแต่งเรือให้มีความทันสมัย ปราดเปรียวรวดเร็วกว่า จึงคิดว่าเรือก็ยังคงอยู่กับท้องถิ่นต่อไป แต่บทบาทของเรือก็เปลี่ยนไปจากวิถีดั้งเดิม แต่อย่างไรก็ตามภูมิปัญญาในการต่อเรือก็ถือว่าได้พัฒนาขึ้นไปตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องไม่ได้ : InTangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

งานช่างฝีมือดั้งเดิม : TC : Traditional Craftsmanship งานศิลปกรรมพื้นบ้าน
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : บ้านเลขที่ 19/1 หมู่ 8 ต. ศีรษะจรเข้ใหญ่ อ. บางเสาธง จ. สมุทรปราการ 10540

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

คุณสมชาย ศรีเผือก

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

หฤษฏ์ โตพันธุ์ : มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ : 2566 Advance Track

พิกัด GPS

มีผู้เข้าชมจำนวน :60 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 09/09/2024 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 09/09/2024


BESbswy