PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : TC-80230-00009 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

ธงชัย สระนาค
Tongchai Sarnak

การทำเรือพระลากประกอบด้วยอุปกรณ์ทั้งสิ้น 14 ชิ้นหลัก ๆ ในแต่ละชุดแยกกันอย่างชัดเจนแต่สามารถประกอบเข้าด้วยกัน เช่น หัวเรือ ชุดแม่ไฟชุดประกอบโครงเรือพระ เรือพระลากใช้เวลาประกอบประมาณ 1 วัน การประกอบต้องดำเนินการจากฐานล่างของเรือพระจนถึงยอดนมของเรือพระ (ที่ประดิษฐานของพระลากจัดวางไว้บนเศียรของพระลาก) โดยมีรายละเอียดอุปกรณ์ดังนี้ อุปกรณ์ที่ 1 คือ ฐานลากเรือพระ ฐานลากเรือพระที่ใช้สำหรับการลากจูงในอดีตนิยมใช้ไม้สักทองหรือไม้ตะเคียนเนื่องจากมีความแข็งแรง เหนียว และทนทาน โดยใช้ลำต้นที่มีขนาดใหญ่และตรง ตัดเป็นแนวยาวตามขนาดของต้นไม้และแบ่งออกเป็นสองชิ้นปัจจุบันสืบเนื่องจากต้นตะเคียนทองหรือต้นสักหายากและต้องเปลี่ยนมาใช้ไม้อื่น ๆที่หาได้ตามธรรมชาติ ในขณะเดียวกันใต้ฐานรองลากจะใช้แผนอลูมิเนียมแนบอีกชั้นเพื่อป้องกันการผุพังของฐานพระลาก อุปกรณ์ที่ 2 คือ ฐานชั้นต้นรองเรือพระ ฐานชั้นต้นรองพระลากใช้ไม้ขนาด 3 นิ้วความยาววัดจากท้ายเรอืและหัวเรือ นิยมใช้ไม้ที่มีความแข็งแรงเนื่องจากส่วนฐานรองเรือพระเป็นส่วนสำคัญในการรับน้ำหนักของเรือพระทั้งหมด ใช้ไม้ทั้งสิ้น 8 ชิ้น ในแต่ละข้าง จำนวน 16 ชิ้น อุปกรณ์ที่ 3 คือ ไม้ข้างแบบเนื้อแข็ง ไม้ข้างใช้ขนาบข้างเรือพระลากนิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง ซึ่งประกอบกันเป็นแนวยาว มีการขุดรองและจัดแบ่งเป็นชุด ๆ เพื่อประกอบขนาบข้างของเรือพระทั้ง 4 ทิศ ใช้ไม้ทั้งสิ้น จำนวน 54 ชิ้น ขนาดความสั้นยาวต่างกันขึ้นอยู่กับจุดที่ประกอบเรือพระ อุปกรณ์ที่ 4 คือ แผงไม้ขนาบข้างเรือพระ แผงไม้ข้างขนาบโครงเรือใช้ไม้ขนาด3 นิ้ว ความยาวมี 2 ระดับ คือประมาณ 30 เซนติเมตร และความยาวเท่าขนาดกลางลำเรือ ซึ่งใช้ไม้ ขนาด 30 เซนติเมตร จำนวน 4 ชิ้นต่อ 1 ข้าง รวมทั้งสิ้น จำนวน 16 ชิ้น ในส่วนของไม้ยาว ใช้ทั้งสิ้น จำนวน 8 ชิ้น อุปกรณ์ที่ 5 คือ ไม้ข้างแบบเนื้ออ่อน ไม้ข้างนิยมใช้ไม้ตามธรรมชาติและไม้ที่ตัดใหม่ ๆ เนื่องจากไม้ลักษณะนี้มีความเหนียวใช้ได้นานเมื่อระยะเวลาผ่านไป ส่วนใหญ่ใช้ไม้ที่มีลักษณะกลมเพื่อให้ง่ายต่อการดัดและขัดกับเชือกเพื่อผูกยึดอุปกรณ์ต่าง ๆ แทนตะปู อุปกรณ์ที่ 6 คือ ลวดสลิง ในอดีตนิยมใช้เถาวัลย์ทำเป็นเชือกนำมาควั่น (การทำเชือก) แต่ปัจจุบันเถาวัลย์จากธรรมชาติหายากจึงปรับเปลี่ยนมาใช้ลวดสลิงแทนและมีความคงทน ยืดหยุ่นได้พอสมควร การใช้ลวดสลิงในการทำเรือพระด้านในและด้านนอก ทั้งสิ้นจำนวน 38 เส้น ความยาวเท่า ๆ กัน อุปกรณ์ที่ 7 คือเชือกลากเรือพระ เชือกลากเรือพระนิยมใช้เชือกไนลอนสีขาว (เชือกไนลอนเส้นใหญ่) เนื่องจากมีความคงทนโดยเชือกจะแบ่งออกเป็น 2 เส้น เส้นที่ 1 ใช้มัดหูชอง (การใช้เชือกมัดยึดติดกับลำเรือพระ) ใช้ยึดระหว่างเรือทั้งสองข้างทั้งหัวเรือและท้ายเรือ ส่วนเส้นที่ 2ใช้สำหรับการลากจูงเรือพระ อุปกรณ์ที่ 8 คือไม้ขัดข้างใน ไม้ขัดใช้สำหรับขัดเชือกหรือลวดสลิงให้แน่น ตัดเป็นท่อนเท่า ๆ กัน ความยาวประมาณ 40 -50 เซนติเมตร ใช้ขัดภายในลำเรือและนอกลำเรือ ใช้ไม้ทั้งสิ้น 4 ด้าน ด้านละ 2 ชิ้น ด้านนอกด้านใน รวมทั้งสิ้น จำนวน 32 ชิ้น อุปกรณ์ที่ 9 คือ ไม้เสานมเรือ ไม้เสานมเรือ (ไม้ยาวใช้ค้ำ) นิยมใช้ไม้เนื้อแข็งเนื่องจากใช้เป็นโครงเรือเพื่อค้ำยันนมเรือ นิยมใช้ไม้สักทองหรือไม้ตะเคียนทอง โดยไม้เสานมเรือจะมีความยาวประมาณ 3 เมตร ด้านล่างมีการเจาะรู สลัก เพื่อค้ำยัน ด้านบนมีการตัดผ่าครึ่งลงมา 5 เซนติเมตร เพื่อใช้ในการยึดติดกับฐานนมเรือ ใช้ไม้ทั้งสิ้นข้างละ 3 ต้น 4 ข้าง รวมทั้งสิ้น จำนวน 12 ท่อน อุปกรณ์ที่ 10 คือสลักไม้ไผ่ สลักไม้ไผ่โดยการนำต้นไผ่ที่แก่จัดมาหั่นเป็นท่อน ๆ โดยมีความยาวท่อนละ 1 ฟุต เหลาปลายไม้ไผ่ให้เรียบเพื่อให้ง่ายต่อการตอกลิ่ม ใช้ไม้ไผ่ทั้งสิ้น จำนวน 8 ชิ้น ทั้ง 4 ข้าง ด้านนอกและด้านใน อุปกรณ์ที่ 11 คือไม้ขัดข้างระดับยาว ไม้ขัดข้างยาวนิยมใช้ไม้ทรงกลม มีความยาว ทั้งสิ้นประมาณ 160เซนติเมตร นิยมใช้ไม้สดเนื่องจากมีความเหนียวและแข็งแรง ดัดง่าย ใช้ไม้ทั้งสิ้น จำนวน 4 ท่อน 4 ด้าน รวมทั้งสิ้นจำนวน 12 ท่อน อุปกรณ์ที่ 12 คือไม้ไผ่ตกแต่งเรือพระ ไม้ไผ่ตกแต่งเรือพระนิยมใช้ไม้ไผ่ทั้งต้น โดยนิยมใช้ในการตกแต่งริ้วขบวนด้วยผ้าแพร สลับสี ดูสวยงาม ส่วนของความยาวขึ้นอยู่กับความสูงของยอดนมเรือ ใช้ไม้ไผ่ทั้งสิ้น จำนวน 16 ต้น ขัดกันไปมาเพื่อความสวยงาม อุปกรณ์ที่ 13 คือแถบผ้าแพรธงริ้วตกแต่งเรือพระ ใช้สำหรับตกแต่งเรือพระเพื่อความสวยงามมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม ความยาวขึ้นอยู่กับไม้ไผ่ที่มัดหรือขึ้นอยู่กับความสวยงามของริ้วขบวน ในส่วนของสีขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ตกแต่ง เช่น สีเหลือง สีแดง สีฟ้า ส่วนจำนวนชิ้นก็ขึ้นอยู่กับเสาของริ้วขบวน เช่น 16 ชิ้น อุปกรณ์ที่ 14 คือ นมเรือพระ นมเรือพระ คือ ยอดประดิษฐานของพระลากจัดวางไว้บนเศียรของพระลาก ซึ่งด้านบนมีไม้คำยัน จำนวน 12 ท่อน ด้านล่างเจาะยึดไว้เพื่อความมั่นคง โดยฐานของนมพระขึ้นอยู่กับฐานรอง ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 120 ทั้ง 4 ด้าน



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องไม่ได้ : InTangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

งานช่างฝีมือดั้งเดิม : TC : Traditional Craftsmanship เครื่องไม้
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : ต. ท่าดี อ. ลานสกา จ. นครศรีธรรมราช 80230

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

ธงชัย สระนาค

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

ขวัญตา หนูปล้อง : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช : 2566 Festival

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
-

มีผู้เข้าชมจำนวน :93 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 06/10/2024 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 03/11/2024