PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : SP-80230-00006 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

เทศกาลลากพระทางน้ำ
Lakpar Tangnam Festive Event

ประเพณีลากพระทางน้ำวัดพัทธเสมา หมู่ที่ 5 ตำบลท่าดี อำเภอลานสกา ประเพณีเกิดเมื่อปี พ.ศ. ใดไม่สามารถระบุได้ แต่ประมาณได้ว่า 200-400 ปีโดยประมาณ คือในสมัยอยุธยา พบว่า ทุกคนบอกว่าตนเกิดมาถึงมีประเพณีแล้วทั้งสิ้น จากการสัมภาษณ์ เจ้าอาวาสวัดโคกโพธิ์สถิตต์ อายุ 101 ปี เล่าว่าพ่อกับแม่ของท่านก็บอกว่าเมื่อพ่อกับแม่ท่านเกิดมา ประเพณีก็มีแล้ว จึงยืนยันจากบุคคลที่ยังคงมีชีวิตอยู่ได้ว่าน่าจะมีมาไม่ต่ำกว่า 200 ปี โดยประเพณีลากพระทางน้ำเป็นการแห่ไปส่งประพุทธเจ้าเสด็จสู่ดาวดึงส์ ที่วัดพันธเสมานี้นี้ครบกระบวนการ คือ สวรรค์ มนุษย์ เดรัจฉาน เป็นโบสถ์สามโลก ที่วัดอื่นๆ ได้หายไปหมดแล้ว สมัยก่อนปี 2535 จะมีวัดคู่ที่แห่ด้วยกัน คือพระลากวัดจันทร์ แต่หลังจากนั้นเมื่อน้ำได้พัดพาวัดและบ้านเรือนหายไป วัดไปตั้งบนพื้นที่สูง จึงไม่มีการลากพระทางน้ำแล้ว เป็นลากพระบกแทน ความเชื่อที่ว่าหากพระลากทั้งสองวัดไม่ได้มาเจอกันในปีนั้นการทำเกษตรจะไม่อุดมสมบูรณ์ก็หายไปเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าถ้าได้ร่วมประเพณีแล้วข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ ผู้คนจะเอาข้าวจากบาตรพระลากไปปาในสวนในไร่ เชื่อว่าจะทำให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ (พ่อท่านอ่ำ ญาณโร, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566) พระลากขึ้นบัญชีไว้แล้วของกรมศิลปากรเรียบร้อย พระลากเดิมไม่มีชื่อเพราะเรียกว่า พระลาก พระลากเป็นพระที่สร้างในสมัยอยุธยาประมาณ 400 ปี พระองค์ได้แสดงปาฏิหาริย์ไว้มากมายให้กับชุมชน เช่น สมัยโบราณเมื่อเกิดโรคระบาดก็จะทำน้ำมนต์กับบาตรท่าน โรคระบาดก็จะหายไป ถ้าฝนแล้งไม่ตกจะยกเอาพระลากไปแช่น้ำ ฝนก็จะตก และมีเหตุการณ์ที่วันลากพระทางนี้ เรือพระที่มีขนาดใหญ่หลายตันได้ทับเอาเด็กจนเรือนั้นลากเลยไป คนรีบไปยกเด็กขึ้นมามีแต่รอยแดงๆแต่ขา กระดูกไม่หัก ทั้งที่คนคิดว่าเด็กจะต้องเสียชีวิตแน่เพราะเรือพระใหญ่มาก ทุกคนเลยเชื่อว่ารอดเพราะปาฏิหาริย์จากพระลาก พระลากถูกขโมยมาแล้ว 3 ครั้ง ห่างกันประมาณ 40-50 ปีต่อครั้ง แต่ไม่หาย ทุกครั้งจะมีปาฏิหาริย์ ครั้งล่าสุดพระลากถูกขโมยไป โจรเป็นคนอำเภอกาญจนดิษฐ์ เป็นนักโจรกรรมขโมยวัตถุโบราณทั่วภาคใต้ แต่พระลากก็ไม่หายสามารถนำกลับมาได้ มีชาวบ้านเข้าไปกวาดเอาพระเกศของพระลาก ที่หลุด ตกทิ้งไว้ โจรรีบจนไม่ได้หยิบไป และคงไม่เห็น พ่อเฒ่าแหล่มเคยเล่าไว้ว่า ถ้าถอดเกศไม่ไปพระก็จะไม่ไปไหนยังอยู่ในโบสต์ ไม่นานจึงพบว่าโจรเอาไปทิ้งไว้ข้างถนนที่จังหวัดชุมพร เพราะกลัวระหว่างทางเจอด่าน จึงได้นำพระลากมาส่งที่วัด ก่อนถูกขโมยพระลากเข้าฝันชาวบ้านท่านเข้าฝันไปบอกว่าจะไปเที่ยวสัก 9 วัน พระลากหายไปกลับมาได้คือ 9 วันพอดี ในระหว่างการถูกขโมยมีคนบอกว่าหายก็หล่อพระใหม่ซิ ปรากฎพระลากไปเข้าฝันว่าไม่ต้องมาเข้าวัดกูแล้วนะ พระลากพระองค์นี้มีเหงื่อ แสดงให้เห็นว่าเป็นพุทธรูปที่มีพระชนม์ชีพตามความเชื่อ (ยศไกร กาญจนชัย,สัมภาษณ์วันที่ 10 กรกฎาคม 2566) การนำเรือพระของวัดพัทธเสมาลงลากในลำธารข้างวัด ซึ่งเดิมคือเส้นทางการเดินทางของที่เรียกว่า พวกเหนือใช้เดินทาง ปัจจุบันไม่มีการใช้แล้วนั้น การลากพระโดยการลากนั้นใช้คนลากไปบนลำธารอย่างสนุกสนานตามที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ส่วนบนเรือพระหรือบุษบก มีพระลากหรือพระพุทธรูปโบราณปางอุ้มบาตรศิลปะอยุธยาประจำวัดถูกนำไปประดิษฐานเพื่อให้ชาวบ้านบูชา ก็ได้นำลงเรือทั้งพระลากและพระลาว พนมพระของวัดพัทธเสมามีความสวยงามและโบราณมาก ทุกปีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวจำนวนหลายพันคนเดินทางมาร่วมชักพระทางน้ำมากกว่าทุกปี เพื่อความเป็นสิริมงคล และเชื่อกันว่าพระลากบนเรือพระมีลักษณะคล้ายกับพระพุทธชินราชปางอุ้มบาตรมีเทวดามาช่วยหล่อ และศักดิ์สิทธิ์มาก หากบนบานมักจะประสบความสำเร็จ จึงมีการสมโภชทุกปี และทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 จะมีพิธีการลากพระทางน้ำเช่นนี้ทุกปี 2) กิจกรรมลากพระทางน้ำ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบ มีกิจกรรมดังต่อไปนี้ 2.1) เวลา 09.09 นิมนต์พะลากลงมาสรงน้ำ 2.2) เวลา 10.09 น.นำเข้าสู่วิหารแต่งเครื่องทรง มีผ้าถุง ผ้าเฉียง เครื่องประดับ โดยส่วนใหญ่ คือ มีโยมมาถวายผ้า ปีละ 2 ครั้ง เป็นผ้าไหมตกแต่งลายบ้างก็เป็นผ้ายก ถ้าในสมัยโบราณผ้ายกจะถูกนำไปตกแต่งเรือด้วย 2.3) เวลา 10.30 น. หมอทำพิธีสมโภชในวิหาร มีบายศรีในพิธี เป็นบายศรีพรมห 9 ชั้น บายศรีเทพ 7 ชั้น และบายศรีปากชาม 5 ชั้น ในระหว่างนั้นทุกคนจะอยู่ในวิหาร ซึ่งมีคนร่วมพิธีเยอะมาก 2.4) เวลา 11.20 น. พระฉันเพล 2.5) เวลา 13.00- น. จนค่ำ มีการออกร้านวัฒนธรรมจัดงาน 2.6) เวลา 19.00 น. พิธีสมโภชกฐิน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 2.7) เวลา 20.30 น. มหรสพ หนังตะลุง มโนราห์ กลองยาว ดนตรี แก้บนพระลาก จะเริ่มในเวลานี้ การลากพระน้ำมีการลากระยะทางบนบกไปประมาณ 400 เมตร โดยการลากเชือกทั้งสองด้าน ในระหว่างนั้นมีการตีโพนหน้าเรือพระ ตามด้วยการลากพระทางน้ำประมาณ 500-600 เมตร เป็นการลากทวนน้ำระยะทางไม่ไกล แต่ลากนาน เพราะในระหว่างทางก็มีการหยุดลากพระไปบ้าง เล่นน้ำไปบ้าง ทานขนมต้มไปบ้าง โดยผู้คนที่มาร่วมลากพระน้ำส่วนใหญ่แต่งกายตามสะดวก คนเฮพระจะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ กิจกรรมสนุกสนานจึงไม่เหนื่อยง่ายแม้จะลากกันด้วยแรง เรือไม่มีล้อ ก่อนเที่ยงจึงจะหยุดเพื่อให้พระฉันเพล ในระหว่างนั้นคนแห่กฐินมาถึงวัดพอดีก่อนเที่ยว พระฉันข้าวเสร็จได้ทำพิธีเวียนกฐิน และในเวลา 13.00 น. จะเป็นการทอดกฐิน เวลา 14.00 น. กลับไปลากเรือพระกลับมาทางเดิม มาทางวิหาร ลากจนมาถึงวิหารในเวลา 18.00 น. มาถึงวิหาร อันเชิญพระลากลงจากเรือมาสรงน้ำ เปลี่ยนเครื่องทรง นำเข้ากุฏิเช่นเดิม ความเชื่อที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นคือชาวบ้านจะ รองรับน้ำไปทำน้ำมนต์เพราะชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ 3) กิจกรรมสมโภช ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 มีกิจกรรม ดังต่อไปนี้ 3.1) เวลา 05.00 น. อันเชิญพระลากขึ้นเรือพระ โดยมีคนอันเชิญ 3.2) เวลา 05.30 น. เลื่อนพระลากไปประตูแดง 3.3) เวลา 06.00 น. นิมนต์เจ้าอาวาสขึ้นเรือพระแสดงธรรม ตามด้วยประธานในพิธีกล่าวทักทายผู้ร่วมงาน และตักบาตรพระลาก โดยมีเฉพาะผู้ชายที่สามารถขึ้นไปบนพระลากได้ ในระหว่างนั้นมีมีอาราธนาบาตร (ตักบาตรเทโว ตักบาตรพระสงฆ์) 3.4) เวลา 08.00 น.เริ่มกิจกรรมลากพระ พระฉันท์อาหาร เปิดโรงทาน พระลาว ลงเรือกับพระลาก 4) สภาพปัจจุบันของประเพณีกับพระลาก 4.1) ปัจจุบันพระลาวที่คู่พระลาก ยกขึ้นเรือคู่กับพระลาก ถูกทาสีกระป๋อง ข้างในผุพังแต่ดูจากภายนอกผิวเผินยังสวยงาม ปัจจุบันสียังไม่ได้ล้างออก 4.2) การเบี่ยงเบนทางประวัติ ขาดการเชื่อมต่อประวัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร ภูมิปัญญาบางอย่างเริ่มหายไป 4.3) วัดในวันลากพระน้ำและการทำบุญระหว่างวันที่มีกิจกรรม มีปัญหาด้านการจัดการ ยังไม่สามารถจัดระเบียบได้ เพราะคนจำนวนมากมาร่วมประเพณี แล้วแย่งกันตักบาตร เกิดความวุ่นวาย 4.4) วิหารหลังเก่าสมัยอยุธยาตอนปลายพุพัง 4.5) หมอพิธีดั้งเดิมป่วยหนัก คนทำพิธีในพื้นที่เริ่มหาย 4.6) เรือชำรุดมีการปรับเปลี่ยนหลายอย่าง เช่น พนมพระ



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องไม่ได้ : InTangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล : SP : Social Practices, ritual and festive events ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับเทศกาล
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : ต. ท่าดี อ. ลานสกา จ. นครศรีธรรมราช 80230

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

ขวัญตา หนูปล้อง : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช : 2566 Festival

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
-

มีผู้เข้าชมจำนวน :108 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 06/10/2024 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 03/11/2024