“บ้านหัวทะเล” อาจมีที่มาจากพื้นที่ในชุมชนในอดีตที่เป็นพื้นน้ำ ซึ่งมีความสำคัญทางการคมนาคมติดต่อค้าขาย รวมทั้งเป็นท่าเรือขนาดเล็กของพ่อค้าและนักเดินทาง คำว่า “หัว” ซึ่งเป็นชื่ออวัยวะหนึ่งของร่างกายที่มีความสำคัญและยังใช้เป็นคำเรียกจุดเริ่มต้น เช่น หัวสะพาน หัวถนน เป็นต้น กล่าวได้อีกอย่างว่าบริเวณดังกล่าวอาจเป็นท่าเทียบเรือที่พ่อค้า หรือนักเดินทางต้องเทียบเรือก่อนที่จะเดินทางไปในจุดอื่น ๆ ต่อไป และ “ทะเล” อาจมาจากที่คลองท่าแพที่เป็นน้ำกร่อยซึ่งเป็นจุดกำเนิดของพื้นน้ำในบริเวณดังกล่าว ปัจจุบันคลองท่าแพจะส่งน้ำลงสู่อ่าวไทย จึงเป็นไปได้ว่า ทะเลที่เรียกนั้นมาจากคลองท่าแพซึ่งเป็นต้นน้ำในพื้นที่เป็นแอ่งหลุมขนาดใหญ่ในอดีต “บ้านหัวทะเล” จึงเป็นคำเรียกหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบัน ประวัติการตั้งถิ่นฐาน บ้านหัวทะเลในอดีตก่อนจะมีผู้คนมาจับจองพื้นที่ บางส่วนนั้นเป็นน้ำ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นหลุมแอ่งขนาดใหญ่ โดยจะมีต้นน้ำที่ไหลมายังแอ่งหลุมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นน้ำกร่อยที่ไหลมาจากคลองท่าแพ จึงทำให้พื้นที่ของชุมชนเป็นหลุมแอ่งขนาดใหญ่กลายเป็นพื้นน้ำ ซึ่งในอดีตพื้นที่บริเวณนั้นเคยเป็นแหล่งในการคมนาคมติดต่อค้าขายและอื่น ๆ กาลเวลาล่วงเลยมายาวนาน และเกิดการทับถมของชั้นดินทำให้ชั้นดินส่วนที่เป็นพื้นน้ำค่อย ๆ แห้งขอดลง และอีกรายงานหนึ่งก็คือ บริเวณชุมชนดังกล่าวเคยเป็นทะเลมาก่อน ซึ่งได้รับทราบมาจากข้อมูลจากคำบอกเล่าของชุมชนที่ว่า ถ้าหากขุดดินลงไปลึกประมาณ 5-6 เมตร จะเห็นได้ว่าดินด้านล่างเป็นดินเลนทะเล พบเปลือกหอยหลากหลายชนิด ซึ่งนั่นหมายถึง เมื่อก่อนนั้นบริเวณนี้ น้ำทะเลสามารถที่จะเข้าถึงได้ และบางท่านบอกว่าหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่พอจะยืนยันได้ว่าพื้นที่แห่งนี้อาจเคยเป็นทะเลหรือชายเลนมาก่อน นั่นก็คือชิ้นส่วนของต้นไม้ ใบไม้ เมล็ดพืชและเปลือกหอย ซึ่งชาวบ้านบังเอิญพบเจอในระหว่างการขุดน้ำของชาวบ้าน ในระดับความลึก 3-4 เมตรโดยประมาณ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าพื้นที่แห่งนี้คงจะอยู่ต่ำกว่าในปัจจุบัน การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คน พบว่าการเข้ามาของคนมุสลิมที่มาอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชนั้นได้มีมาเรื่อย ๆ นับตั้งแต่อดีตกาลที่เมืองนครศรีธรรมราชเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน โดยผ่านรูปแบบการทำมาค้าขาย ไม่ว่าจะเป็นคนมุสลิมที่มาจากไหหลำและคุนหมิงประเทศจีน คนแขกที่มาจากอินเดีย ปากีสถาน หรือแม้แต่คนมลายูจากเกาะชวา หรือเกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซีย และรวมถึงคนมาเลเซียเองก็ตาม อาจจะโดยการค้าขาย การเดินทางเพื่อหาที่ทำมาหากิน หรือการเสาะแสวงหาดินแดนใหม่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่จึงทำให้มีมุสลิมได้เข้ามาอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชอยู่เรื่อยมา และครั้งใหญ่สุดที่มุสลิมถูกเกณฑ์เข้ามาอาจจะด้วยความสมัครใจหรือถูกบังคับก็แล้วแต่ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยเจ้าพระยานคร (น้อย) ได้เข้าไปตีเมืองไทรบุรีเพราะการแข็งข้อ ขัดขืน ไม่ส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเพื่อถวายแก่เมืองหลวง โดยสมัยนั้นพระยาไทรบุรีปะแงรัน เป็นเจ้าเมืองไทรบุรี ในการศึกครั้งนั้นเมืองนครฯ เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะพร้อมด้วยกับการกลับสู่เมืองนครด้วยกับคนมลายูในฐานะเชลยศึก จึงทำให้คนมุสลิมมลายูจำนวนมากถูกโยกย้ายโอนถ่ายจากเมืองไทรบุรี มาสู่มาตุภูมินครศรีธรรมราช อาจารย์กิตติพงษ์ พงค์ยี่ลำ เล่าว่า "เมื่อก่อนขุนนางที่ตามมาหรือที่เขาชวนกันมาร่วมกัน สร้างเมือง ใครทำนาก็ทำนา ประมงก็แบ่งเขตกัน วางเป็นจุดๆ ไม่ใช่ว่าเขาจะฆ่าทำลาย เขาชวนมาสร้างเมือง เพื่อให้มีกำลังพลมาก เป็นแผนควบคุมกำลังพล ถ้าเขาไว้ที่โน้นพวกเขาก็จะแข็งเมือง คนไทยเรานี้ใจดีมาก" ซึ่งจากคำพูดนี้แสดงให้เห็นว่าคนมุสลิมมลายูเมืองไทรบุรีเมื่อก่อนนั้นโยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่เมืองนครศรีธรรมราชด้วยความสมัครใจ และเต็มใจที่จะตามมา โดยการก่อตั้งชุมชนบ้านหัวทะเลนั้นมีทั้งบุคคลสำคัญ วัตถุเก่าแก่ รวมทั้งสถานที่สำคัญฯ ซึ่งเป็นผลให้เกิดชุมชนบ้านหัวทะเลขึ้น
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
วรรณกรรมพื้นบ้าน : FL : Folk Literature ตำนานพื้นบ้าน
.
เลขที่ : บ้านหัวทะเล ต. นาเคียน อ. เมืองนครศรีธรรมราช จ. นครศรีธรรมราช 80000
เรณู ดาราภัย
ขวัญตา หนูปล้อง : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช : 2566 Festival