ด้วยความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ทำให้เกิดการเข้ามาอาศัยของผู้คนในพื้นที่เกาะยอ จนนำไปสู่เรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชน วัฒนธรรมประเพณีของพื้นที่เกาะยอ ที่ดีงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ตามคำบอกเล่าของ กำนันธานี ไพโรจน์ภักดี อดีตกำนันตำบลเกาะยอดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2517 – พ.ศ. 2532 ว่าเกาะยอเดิมเป็นเกาะร้าง ต่อมามีชาวบ้านตำบลน้ำน้อยและตำบลทุ่งหวัง ได้อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานจับจองที่ดินเพื่อเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย และทำอาชีพเกษตรกรรมบริเวณบ้านนาถิ่น บ้านในบ้าน บ้านสวนทุเรียน ผู้คนที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นชาวจีนโดยตั้งชุมชนเป็นหย่อม ๆ ริมฝั่งรอบเกาะยอนอกจากนี้ชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานยังแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เข้ามาทำเครื่องปั้นดินเผาประเภทอิฐ กระเบื้อง หม้อ ไห โอ่ง อ่าง เพราะบริเวณเกาะยอมีดินเหมาะแก่การทำเครื่องปั้นดินเผา ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่เข้ามาเพื่อค้าขาย โดยกลุ่มนี้เป็นพ่อค้าจากเมืองจีนที่แล่นเรือนำสินค้ามาขายกับชุมชนบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เช่น ชุมชนบางแก้ว ชุมชนบ้านพระเกิด ชุมชนบ้านลำปำเมืองพัทลุงเป็นต้น ก่อนเข้าสู่ชุมชนเหล่านี้ต้องเดินทางผ่านเกาะยอ พ่อค้าบางส่วนได้แวะหยุดพักเพื่อหุงหาอาหารบริเวณหัวเกาะด้านทิศตะวันตกในหมู่ที่ 7 ใกล้กับวัดท้ายยอและเมื่อเดินทางกลับจากการค้าขายกับชุมชนภายก็อาจจะหยุดพักแรมบริเวณเกาะยออีกในจำนวนชาวจีนโพ้นทะเลที่เดินทางค้าขายเหล่านี้บางกลุ่มได้ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานทำมาหากินบนเกาะยอ เพราะมีทำเลพื้นที่เหมาะแก่การทำสวนผลไม้ ทะเลก็อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำ และพรรณไม้นานาชนิดนอกจากนี้แล้วคงจะมีกลุ่มคนไทยที่นับถือพุทธศาสนาจากท้องถิ่นเมืองสงขลาได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานส่วนหนึ่งด้วย ดังได้พบหลักฐานเจดีย์บรรจุอัฐิสมเด็จเจ้าเกาะยอบนยอดเขากุฎิที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จากหลักฐานดังกล่าวพอสรุปได้ว่าชาวเกาะยอในรุ่นแรก ๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวจีนจากโพ้นทะเลซึ่งผู้คนกลุ่มนี้ต่อมาได้ผสมกลมกลืนทางสังคมและวัฒนธรรมกับคนไทยพื้นถิ่น ได้กลายเป็นตัวตนที่แท้จริงของชาวเกาะยอสืบทอดมาจนปัจจุบัน
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
พื้นที่วัฒนธรรม : CS : Cultural Space พื้นที่วัฒนธรรมที่เป็นพื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้น
.
เลขที่ : ย่านชุมชนเก่าเกาะยอ ต. เกาะยอ อ. เมืองสงขลา จ. สงขลา 90100
อาจารย์สิทธิพร ศรีผ่อง
-
ผศ.ดร.กรฤต นิลวานิช : มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา : 2566 Festival