๑. อุโบสถเก่าโบราณ จากคำบอกเล่าของพระครูโพธิคุณวัฒน์ และผู้สูงอายุในท้องถิ่นว่า วัดนี้มีโบสถ์ลักษณะคล้ายเก๋งจีน หลังคาซ้อน ๒ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วย ช่อฟ้าเป็นรูปหัวมังกร ผนังก่ออิฐฉาบปูนขาวผสมน้ำอ้อย ล้อมรอบด้วยใบเสมาและมีวิหารทรงจตุรมุข เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย หลังคามุงด้วยกระเบื้องเกล็ดเต่า (มีการเปลี่ยนทรงหลังคาในปี ๒๔๘๕ และซ่อมแซมใหม่ใน ปี ๒๕๔๑) ปัจจุบัน อุโบสถ์นี้ได้รื้อถอนไปแล้ว ๒. พระวิหารไสยาสน์โบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่างพ.ศ. ๒๓๑๐ – ๒๓๑๕ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หลังคาเป็นทรงจตุรมุขมุงด้วยกระเบื้องดินเผาเกล็ดเต่า ประดับ ช่อฟ้าใบระกา หน้าบันไม่มีลวดลาย มีประตูทางเข้า ๒ ด้าน คือทางทิศเหนือ และทิศตะวันตก เหนือประตูประดับด้วยถ้วยจีนเรียงเป็นรูปวงกลม มีหน้าต่าง ๑ ช่อง ทางทิศตะวันออก กระเบื้องชายหลังคาเชื่อมด้วยปูน ตัววิหารมีกำแพงล้อมรอบ พร้อมมุงหลังคาและมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยทำด้วยปูนประดิษฐานไว้โดยรอบจำนวน ๘ องค์ ส่วนภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ๑ องค์ ต่อมาหลังคาวิหารและกำแพงได้ชำรุดและพังลง ในพ.ศ. ๒๔๘๕ ได้มีการซ่อมแซมหลังคาใหม่ โดยมุ่งด้วยกระเบื้องเกล็ดเต่าเคลือบสี หน้าบันจั่วทิศตะวันตก เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประดับด้วยลายเครือเถาหน้าบัน จั่วด้านประตูปั้นเป็นรูปดอกบัว ๕ ดอกประดับแจกัน หลังคาประดับด้วยช่อฟ้ารูปหัวพญานาค มีใบระกา และต่อมาหลังคาและนาคปั้นก็พัง เกิดความชำรุดเสียหายอีก ในพ.ศ. ๒๕๔๑ อำเภอบางคล้า ได้ทำการซ่อมโครงสร้างใหม่หมดตั้งเสาเสริมความเข็มแข็ง ๔ ด้าน รวม ๘ ด้าน ฉาบผนังภายในโดยก่ออิฐฉาบปูนทุกด้าน เปลี่ยนฝ้าเพดาน เปลี่ยนโคมไฟ ปูพื้นใหม่ด้วยหินอ่อน และปูศิลาแลงโดยรอบวิหารทั้ง ๔ ด้าน ในงบประมาณ ๓๕๐,๐๐๐ ส่วนการประดับตกแต่งเครื่องบนตัวนาคและลวดลายหน้าบันทางวัดเป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้ทรงคุณค่าทางศิลปกรรม ปัจจุบัน วิหารคงมีเฉพาะฝาผนังและพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ภายในวิหารเท่านั้นที่เป็นของเดิม หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ชัยชนะที่บริเวณปากน้ำโจ้โล้แล้ว พระองค์จึงเดินทางมาพักทัพที่บริเวณวัดโพธิ์บางคล้า จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่ประชาชนไทย ควรแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงปกป้องกันแผ่นดินไทย วัดโพธิ์บางคล้า ได้ก่อสร้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ด้านหน้าประตูทางเข้าวัดอยู่ตรงกันข้ามกับวิหารไสยาสน์โบราณ และได้อัญเชิญพระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาประดิษฐานไว้ให้ประชาชนกราบสักการะขอพร ดำเนินการโดยคุณยืนยง โอภากุล เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ มีพิธีกรรมบวงสรวงพร้อมจัดสร้างเหรียญที่ระลึก (ศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรมและท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์, ๒๕๖๔, หน้า ๗๑ - ๗๔) ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อยู่ตรงข้ามกับวิหารโบราณ วัดโพธิ์บางคล้า นอกจากจะเป็นแหล่งโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ที่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังมีค้างคาวแม่ไก่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดเดียวที่บินได้อย่างแท้จริง มีลักษณะหน้าตาคล้ายสุนัขจิ้งจอก จมูก ใบหูเล็ก ตาโต ขนสีน้ำตามแกมแดง ปีกสีดำเป็นพังผืดบาง ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างนิ้ว นิ้วของค้างคาวยาวเกือบเท่าความยาวของลำตัว มีนิ้วหัวแม่มือสั้นกว่านิ้วอื่น ๆ เล็บหัวแม่มือแหลมคม และโค้งได้อย่างเล็บเหยี่ยว มีไว้สำหรับจับหรือยึดกิ่งไม้ โตเต็มที่เวลากางปีกจะยาวประมาณ ๓ ฟุต ออกลูกครั้งละ ๑ ตัว เวลานอนจะห้อยหัวลง และจะนอนในเวลากลางวัน พอจะพลบค่ำก็ออกไปหากินตามป่า ตามสวน อาหารที่ชอบ ได้แก่ ลูกและใบอ่อนของต้นไทร ต้นโพธิ์ ต้นนุ่นและผลมะม่วงแก่ ฝรั่งแก่ เป็นต้น พอรุ่งสว่างก็จะบินกลับที่เดิมโดยอยู่เป็นกลุ่มโดยเฉพาะบริเวณวัดโพธิ์ ไม่ว่าจะแดดร้อนจัด หรือฝนตกก็ไม่หลบหนีไปไหน ค้างคาวเหล่านี้มาอาศัยอยู่ในวัดโพธิ์มานานแล้ว ไม่มีผู้บันทึกไว้ชัดเจน ซึ่งมีปรากฎให้เห็นในสมัยพระครูสุตาลงกต เป็นอดีต เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ จึงถึงปัจจุบัน (สมาคมชาวอำเภอบางคล้าฉะเชิงเทรา, ๒๕๔๔, หน้า ๕๔ – ๕๕) จึงนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
จับต้องได้ : Tangible.
โบราณสถาน : AS : Archeological Site ย่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
.
เลขที่ : เทศบาลตำบลบางคล้า ต. บางคล้า อ. บางคล้า จ. ฉะเชิงเทรา 24110
ธีระพงษ์ ทศวัฒน์
tteerapong10@gmail.com
มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ : 2567 Festival