งานบุญลากพระ เป็นประเพณีสำคัญของชาวไทยภาคใต้มาตั้งแต่สมัยอดีต โดยมีความเชื่อกันว่า ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าออกจากการจำพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11) 1 วัน พระพุทธเจ้าจะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ชาวพุทธศาสนิกชนจึงมารอรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธเจ้าขึ้นประทับบนบุษบกแล้วแห่ไปรอบเมือง พุทธศาสนิกชนทั้งชายหญิงร่วมกันทำเรือพระเพื่อเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าแล้วแห่ไปรอบชุมชนหรือรอบเมือง และร่วมกันชักลากเรือดังกล่าวด้วยเชือกยาวไปตามถนนหนทางที่ใช้สัญจร หากพื้นที่ใดมีที่ตั้งอยู่ตามริมแหล่งน้ำ มักมีการลากพระทางน้ำ ด้วยวิถีของการชักลากพระ จึงเป็นที่มาของคำว่า “ลากพระ” หรือ “ชักพระ” สำหรับวัดคลองแหมีประเพณีลากพระทางบกเป็นเส้นทางหลัก แต่ในอดีตมีการลากพระทางน้ำแล้วไปขึ้นรวมกับวัดอื่น ๆ ที่แหลมโพธิ์ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีถนน ต่อมาเมื่อมีถนนและคนหันมาสัญจรบนถนน ทางวัดจึงทำเรือพระเพื่อลากบนบกแทน อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีการลากพระทางน้ำ จึงยังมีเรือพระในนามของวัดคลองแหร่วมในพิธีลากพระทางน้ำร่วมกับวัดอื่น ๆ เช่น วัดท่าเมรุ วัดท่านางหอม วัดคลองอู่ตะเภา โดยมีวัดเจ้าภาพ คือ วัดท่าเมรุทำเรือพระให้ และมีชาวบ้านคลองแหไปร่วมงาน ซึ่งในวันนั้นมีกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ การแข่งเรือหางยาว เพื่อเปิดโอกาสให้พี่น้องชาวมุสลิมในชุมชนแหลมโพธิ์ได้มาร่วมประเพณีดังกล่าวด้วย ส่วนวัดคลองอู่ตะเภามีการแข่งเรือพาย ซึ่งเป็นการรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้ เนื่องจากสมัยก่อนใช้เรือพายในการลากพระ เมื่อเรือพายไปจอดไว้จึงมีการคิดกุศโลบายให้เรือพายที่ร่วมลากเรือพระได้มาร่วมแข่งเรือพาย โดยฝีพายมีการแต่งเพลงมาร้องเพลงกัน การร้องเพลงในประเพณีการชักพระนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการร้องเพลงเรือ ทำให้ชุมชนที่ลากพระทางน้ำจะมีการร้องเพลงเรือของชุมชน ปัจจุบันชุมชนคลองแหเน้นประเพณีการลากพระทางบก ทำให้การร้องเพลงเรือของชุมชนคลองแหจึงสูญหายไป ในขณะที่ชุมชนบางแห่งยังคงสืบสานการลากพระทางน้ำอยู่ จึงยังคงรักษาและสืบสานการร้องเพลงเรือมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ชุมชนคูเต่า ชุมชนแหลมโพธิ์ การตกแต่งเรือพระของวัดคลองแห เดิมตกแต่งโดยใช้การแทงหยวกออกเป็นลวดลายต่าง ๆ แต่ปัจจุบันไม่มีช่างแทงหยวก จึงใช้งานแกะสลักด้วยโฟมระบายสีแทน และใช้รถมาแทนเรือ ตกแต่งให้เป็นเรือ และมีบุษบกสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ประดับด้วยยอดฉัตร และตกแต่งหัวเรือและท้ายเรือด้วยพญานาคด้านละ 3 ตัว และด้านหน้าและบริเวณโดยรอบเรือพระจะทำตะขอสำหรับให้ชาวบ้านมาแขวนขนมต้ม ชาวบ้านจะเริ่มลากเรือพระออกจากวัดในตอนเช้า เวลา 7 - 8 นาฬิกาโดยประมาณ โดยมุ่งไปไว้ที่วัดเกาะเสือ ระหว่างทางจะมีชาวบ้านมาร่วมกันลากและมาทำบุญ ใส่บาตรเรือพระด้วยขนมต้ม
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล : SP : Social Practices, ritual and festive events ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับเทศกาล
.
เลขที่ : ชุมชนวัดคลองแห ต. คลองแห อ. หาดใหญ่ จ. สงขลา 90110
นายประเสริฐ รักษ์วงศ์
084-396-9332
ดนุวัศ สุวรรณวงศ์ : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ : 2566 Advance Track