PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : CS-53210-00025 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

ย่านเมืองเก่าทุ่งยั้ง
TungYang Old Town Area

ย่านชุมชนเก่าทุ่งยั้ง เป็นย่านชุมชนเก่าที่พัฒนาการมาตั้งแต่เมืองทุ่งยั้ง มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า กัมโพชนคร สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพราะมีการปรากฏชื่อเมืองทุ่งยั้งในศิลาจารึกหลักที่ 38 วัดสระศรี สุโขทัย และเอกสารทางประวัติศาสตร์อีกหลายแห่ง หนึ่งในนั้นก็คือ พงศาวดารเหนือ ซึ่งกล่าวถึงเมืองทุ่งยั้งว่า บาธรรมราช ผู้ปกครองเมืองสวรรคโลก ได้สร้างเมืองทุ่งยั้งขึ้น เพื่อให้พระโอรสไปปกครอง และให้ชื่อว่า กัมโพชนคร เป็นเมืองหน้าด่านของลำน้ำน่านฝั่งตะวันตก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงประทานความเห็นว่า เมืองทุ่งยั้ง น่าจะเป็นเมืองหน้าด่านทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำน่านในสมัยสุโขทัย เนื่องจากมีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นที่ราบ ติดต่อกับตัวเมืองอุตรดิตถ์ที่อยู่ริมแม่น้ำน่าน และภายหลังก็สันนิษฐานว่าเมืองทุ่งยั้งน่าจะหมดความสำคัญลงเนื่องจากทางน้ำในแม่น้ำน่านแปรปรวน กัดเซาะทำลายตลิ่งจนทำให้เมืองทุ่งยั้งไม่เหมาะสมที่จะเป็นเมืองหน้าด่านอีกต่อไป ปัจจุบันยังมีร่องรอยของคูเมือง กำแพงเมืองบางส่วน ซึ่งจากการสังเกตลักษณะทางกายภาพ ก็คาดว่าเมืองทุ่งยั้งมีลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยดูจากแนวของกำแพงเมืองที่เป็นหินศิลาแลงที่อยู่ใกล้กับวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ทั้งนี้เมืองทุ่งยั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับเวียงเจ้าเงาะ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นชุมชนสมัยแรกของอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ภายในเมืองทุ่งยั้งอีกที โดยภายในแหล่งโบราณคดีของเวียงเจ้าเงาะปรากฏทั้งบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ คันคูเมือง 3 ชั้น และโบราณวัตถุอีกมากมาย นอกจากที่กล่าวนี้ ทุ่งยั้งยังมีกำแพงเป็นเนินดิน และคูเมืองตามแนวกำแพงเป็นรูปโค้งวงกลมขนาดกว้างใหญ่ ซึ่งเวลานี้ยังมีปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง บางแห่งก็ถูกขุดถมจนหายไปหมดเคยมีผู้ขุดดินได้พบซากถ้วยชามแตกถูกทับถมจมดินอยู่มากมาย บางชิ้นก็เป็นกระเบื้องมุงหลังคา บ้างก็เป็นครกดินปั้น ซากของโบราณเหล่านี้ได้พบอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ของวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ห่างจากวัดบรมธาตุทุ่งยั้งไปทางทิศตะวันตกมีปูชนียสถานสำคัญทางพุทธศาสนา คือ พระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งมีงานเทศกาลประจำปีกลางเดือน 3 ติดต่อกันตลอดมาทุกปี ปัจจุบัน ย่านชุมชนเก่าทุ่งยั้ง ยังคงเป็นชุมชนย่านการค้าและชุมชนที่อยู่อาศัยในลักษณะกึ่งชนบท ยังคงรักษาอาคารสถาปัตยกรรมเรือนแถวไม้ที่มีคุณค่าบางส่วนเอาไว้ พร้อมกลับกลุ่มเรือนพื้นถิ่น ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมไม้ซึ่งมีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น อยู่ในบริเวณชุมชนโดยรอบวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ซึ่งเป็นมรดกศาสนสถานที่สำคัญของเมือง คู่กับวัดพระแท่นศิลาอาสน์ และวัดพระยืนพุทธบาทยุคล



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องได้ : Tangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

พื้นที่วัฒนธรรม : CS : Cultural Space พื้นที่วัฒนธรรมที่เป็นพื้นที่ธรรมชาติ
พื้นที่วัฒนธรรมที่เป็นพื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้น
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : ทุ่งยั้ง ต. ทุ่งยั้ง อ. ลับแล จ. อุตรดิตถ์ 53210

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

นายปรีชา สุขเกษม

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

081-9736459

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ : 2567 Festival

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
vdo

มีผู้เข้าชมจำนวน :130 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 03/11/2024 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 09/01/2025