PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : FL-90110-00008 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

ตำนานคลองแห
Legend of Khlong Hae

บ้านคลองแห ตั้งอยู่ในตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อยู่ติดกับตัวเมืองหาดใหญ่ทางด้านทิศเหนือ ทำให้พื้นที่ตำบลคลองแห เป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากความเป็นเมืองของตัวเมืองหาดใหญ่เรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และได้รับการยกฐานะให้เป็นเทศบาลเมืองคลองแห โดยบ้านคลองแหมีลำน้ำที่ไหลผ่าน 3 สาย ได้แก่ คลองแห คลองอู่ตะเภา และคลองลาน โดยคลองแห เป็นคลองสาขาที่แยกออกมาจากคลองเตย ในพื้นที่ที่คลองแหแยกออกมาจากคลองเตยในทางทิศใต้ และไหลมาบรรจบกับคลองลานทางด้านทิศตะวันตก บริเวณนั้นเป็นป่ารกครึ้มที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “โคกนกคุ่ม” ทำให้การบอกเล่าประวัติความเป็นมาของพื้นที่ตำบลคลองแห ได้ถูกเริ่มต้นที่บริเวณโคกนกคุ่ม ผู้คนในพื้นที่ตำบลคลองแห ได้มีการเล่าเรื่องราวของ “ตำนานคลองแห” สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน เพื่อบอกเล่าและอธิบายถึงความเป็นมาของพื้นที่ที่ตนเองได้อาศัยอยู่ ซึ่งในปัจจุบันการเล่าเรื่องตำนานคลองแห ก็ยังมีการเล่าเรื่องราวสืบกันมาอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบอกเล่าปากต่อปาก รุ่นสู่รุ่น แบบมุขปาฐะ และการบอกเล่าผ่านสื่ออื่นๆ เช่น สิ่งพิมพ์ การแสดง เป็นต้น ตำนานคลองแห เริ่มเรื่องในสมัยที่ก่อสร้างพระบรมธาตุ ที่นครศรีธรรมราช เมื่อก่อสร้างเสร็จ ก็จะมีพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และมีการเฉลิมฉลอง จึงได้มีการส่งข่าวไปยังหัวเมืองต่างๆ เช่น กลันตัน ไทรบุรี ตรังกานู เปอริส ก็ได้จัดขบวนมาร่วมพิธีมหาบุญ บ้างก็ไปทางน้ำใช้เรือ ทางบกใช้ม้า ใช้เกวียนเดินเท้า ฯลฯ หัวเมืองกลันตัน เดินทางทางเรือพร้อมด้วยแก้วแหวนเงินทองของมีค่าที่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเพื่อนำไปบรรจุในเจดีย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา สิ่งของมีค่าได้บรรจุไว้ในไหบ้าง หีบบ้าง ที่มีค่ามากบรรจุในนกคุ่มเงิน นกคุ่มทอง มีความเชื่อว่านกคุ่มเป็นบ่อเกิดแห่งโชค ลาภ และเพื่อพรางตาโจรผู้ร้าย เพราะดูคล้ายเครื่องประดับสวยงามบนเรือ ตลอดทางได้ตีฆ้องร้องเป่าให้ผู้คนได้ร่วมโมทนาบุญ เมื่อล่องเรือมาถึงทางแยกสำคัญผิด คิดว่าเป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุด พอล่องเรือมา ยิ่งไกล คลองยิ่งแคบ จึงรู้ว่าหลงทิศผิดทาง จึงหาที่หยุดพักค้างคืน มาเจอพื้นที่เหมาะเป็นเกาะแก่งอยู่กลาง มีแม่น้ำสามสาย สายหนึ่งมาจากทิศใต้ สายหนึ่งมาจากทิศตะวันตก มาบรรจบกันเป็นสายน้ำไปทางทิศตะวันออก รุ่งเช้าเตรียมเดินทางต่อ บังเอิญมีขบวนม้าผ่านมา และทราบว่าเขากลับจากนครศรี ฯลฯ พิธีเสร็จสิ้นแล้ว ไม่สามารถนำทรัพย์สมบัติบรรจุในองค์พระธาตุได้อีก สร้างความเสียอกเสียใจให้กับนักบุญ จึงได้มีการประชุมกันเรื่องทรัพย์สมบัติว่าจะทำอย่างไร บ้างก็ให้คืนเจ้าของ บ้างก็ว่าแบ่งกัน เสียงส่วนใหญ่จะไม่นำทรัพย์สินกลับ จึงสมมติที่ตรงนี้เป็นประหนึ่งเจดีย์ และฝังสิ่งของมีค่าทุกอย่างไว้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ในไหเต็มไปด้วยของมีค่า นกคุ่มเงิน นกคุ่มทอง บรรจุแก้วแหวนเงินทอง มีการบูชาพระรัตนตรัย สวดสรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เพื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า หลังจากนั้น มีการชุมนุมเทวดาเพื่อเชิญเทพเทวามาปกปักรักษาสิ่งของมีค่า อย่าให้มีใครนำไปใช้ส่วนตัว เพราะทุกอย่างถวายเป็นของสงฆ์แล้ว คุณยายคนหนึ่ง หยิบผ้าม้วนทูนขึ้นมาอธิษฐาน และจิตเพ่งไปที่ผ้าม้วนทูนประหนึ่ง จะให้ผ้าม้วนทูนปิดปากไห เพื่อป้องกันสิ่งของที่อยู่ในไห มีชายคนหนึ่งนำข้าวสารมาเสก แล้วหว่านไปรอบๆ หลุม มีผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งเสกน้ำมนต์แล้วประพรมไปรอบๆ หลังจากฝังสิ่งของทั้งหมด ก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ร่วมปกปักรักษาทรัพย์ เช่น ทวดขุนพิทักษ์ ณ เชียงใหม่ ทวดชี ทวดดำ ทวดโจร หลังจากนั้น ได้นำฆ้องที่ชี้เป็นสัญญาณบอกบุญ มาอธิษฐานเป็นพุทธบูชา แล้วก็จมฆ้องลงในแม่น้ำนั้น ชาวบ้านจึงเรียก ชื่อตรงนั้นว่า “คลองฆ้องแห่” บริเวณที่ฝังนกคุ่มเงิน นกคุ่มทอง ด้านบนมีสุมทุมพุ่มไม้ ปกคลุมหนาแน่น คล้ายนกคุ่ม ชาวบ้านจึงว่า “โคกนกคุ่ม” ต่อมา ข่าวการฝังทรัพย์สมบัติ ได้ทราบไปถึงฝรั่งนักล่าสมบัติ โดยใช้ลายแทงในการสืบค้น เมื่อมาถึงบริเวณที่บ่งบอก ก็ลงมือขุด พอขุดได้พักหนึ่ง ก็เจอมดคันตัวใหญ่ออกมาเต็มไปหมด ไม่สามารถขุดต่อได้ จึงให้หมอมาทำพิธี มดที่เห็นกลับกลายเป็นข้าวสาร เมื่อขุดต่อก็เจองูม้วนตัวอยู่ที่ปากไห เมื่อหมอมาแก้ งูกลายเป็นผ้าม้วนทูน ชาวบ้านเรียก ผ้าม้วนทูนยาย หลังจากนั้น ทำการขุดต่ออีก ปรากฏว่าฟ้ามืด ลมกระโชกแรง เกิดฝนห่าแก้วตกลงใส่พวกฝรั่ง ทำให้เกิดการเจ็บปวด น้ำฝนได้ชะเอาดินที่ขุดขึ้นมาไหลกลับไปในหลุมตามเดิม หมอพยายามแก้ฝนห่าแล้ว แต่ไม่สำเร็จ จึงล้มเลิกการขุดและกลับไป ต่อมา ปี พ.ศ. 2260 มีการสร้างวัดบริเวณใกล้กับสถานที่ฝังทรัพย์สมบัติ คือ บริเวณแม่น้ำที่มาจากทิศใต้ (คลองเตย) มาประจบกับแม่น้ำที่มาจากทิศตะวันตก (คลองลาน) ไปทิศตะวันออก (คลองแห) หลังจากที่ชาวบ้านอาศัยอยู่กันเป็นจำนวนมาก ทางอำเภอให้มีการสำรวจเพื่อให้ตั้งชื่อหมู่บ้าน โดยผู้ที่มาสำรวจมาจากเมืองกรุงพูดภาษากลาง เมื่อสอบถามชาวบ้านๆ ก็พูดสำเนียงปักใต้ว่า “คลองฆ้องแห่” จึงเขียนตามคำพูดว่า “คลองฆ้องแห” นานวันเข้าคนใต้พูดเร็ว ทำให้เสียงคลองกับฆ้องกล้ำกัน เมื่อพูดเร็วจะได้ยินว่า “คลองแห” ต่อมามีการตั้งชื่อว่า “หมู่บ้านคลองแห” มาจนปัจจุบัน เมืองคลองแหในปัจจุบัน ด้านเหนือ จรดตำบลคูเต่า ด้านตะวันออก จรดตำบลน้ำน้อย ด้านใต้ จรดทางรถไฟไปกรุงเทพและทางรถไฟเก่าสายสงขลาที่เลิกไปกว่า 30 ปีแล้ว ส่วนด้านตะวันตก จรดคลองอู่ตะเภา ซึ่งหลายสิบปีก่อน ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตำบลคลองแห เป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟชุมทางอู่ตะเภา อันเป็นชุมทางสำคัญก่อนความเจริญจะเข้าสู่เมืองหาดใหญ่ เป็นทางแยกไปสงขลาซึ่งเปิดเดินรถไฟสายสงขลา ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2456 โดยรถไฟจากทุ่งสงเมื่อมุ่งหน้าไปสงขลา ก็แยกและเลี้ยวโค้งที่ชุมทางอู่ตะเภาได้เลย แต่หากตรงไปก็จะถึงโคกเสม็ดชุนหรือชุมทางหาดใหญ่ในปัจจุบัน เพื่อแยกไปปาดังเบซาร์ และไปปัตตานี แต่ต่อมา เห็นว่าที่ตั้งของชุมทางอู่ตะเภา เป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง เป็นอุปสรรคต่อความเจริญ จึงลดฐานะสถานีอู่ตะเภาลงเป็นสถานีธรรมดา และแก้ทิศรางรถไฟไปสงขลา ไปเข้าสถานีชุมทางหาดใหญ่แทน ในปี พ.ศ. 2465 และเมื่อหาดใหญ่เจริญขึ้นตามลำดับ สถานีอู่ตะเภาเล็กๆ กลางทุ่งนา ก็ไม่มีความสำคัญอีกต่อไป จึงยุบเลิกไปในที่สุด



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องไม่ได้ : InTangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

วรรณกรรมพื้นบ้าน : FL : Folk Literature ตำนานพื้นบ้าน
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : ชุมชนวัดคลองแห ต. คลองแห อ. หาดใหญ่ จ. สงขลา 90110

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

นายประเสริฐ รักษ์วงศ์

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

084-396-9332

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

ดนุวัศ สุวรรณวงศ์ : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ : 2566 Advance Track

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
-

มีผู้เข้าชมจำนวน :117 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 04/11/2024 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 05/11/2024