PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : TC-50270-00045 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

ย่ามไทยวน
Tai Yuan Bag

ถง ของคนไทยวน หรือคนเมืองนั้น เรียกสั้น ๆ ว่า “ถง” ดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น โดยที่มีถงหลากหลายลักษณะเรียกตามการใช้งานบ้าน ตามวัสดุบ้าง หรือใช้ตามลักษณะงานต่าง ๆ บ้าง ขึ้นกับว่า สิ่งไหนเป็นลักษณะเด่น ถงที่ใช้ในการใส่หนังสือเรียนไปโรงเรียนของเด็กนักเรียน ก็เรียกว่า “ถงแบบ” คำว่าแบบคือ แบบเรียน ที่นักเรียนนำไปเรียนในโรงเรียน สมัยก่อนไม่ได้มีกระเป๋าหิ้ว หรือกระเป๋าเป้สะพายหลังในปัจจุบัน ก็จะใช้ถงที่ได้จากการตัดเย็บมาใช้งานเฉพาะส่วนนี้ไป ถงไก คือถุงที่เย็นจากผ้าที่ทอจากเส้นด้ายที่ใช้เทคนิคปั่นไก คือการใช้ฝ้ายสองเส้นมาพันเกลียวเป็นหนึ่งเส้น แล้วนำมาทอเป็นผืน แล้วจะทำให้ผ้านั้นมีลวดลายเฉพาะ คล้ายผ้าหางกระรอก ดังนั้นถุงที่เย็บจากผ้าที่ทอด้วยเส้นฝ้ายไก เรียกว่า ถงไก โดยส่วนมากเป็นถุงแบบพื้น คือมีลักษณะการทอสีพื้น แต่มีการเติ่มสีสันตรงขอบของผ้าทอด เมื่อมาเย็บรวมตัวถุงและขาถุงเข้าด้วยกัน ก็จะเห็นเป็นแถบสีสวยงาม ซึ่งเทคนิคนี้นิยมในกลุ่มลัวะ และปกาเกอะญอ ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันมีการตกแต่งถุงให้มีความงดงามเพิ่มมากขึ้น โดยใช้เทคนิคดังต่อไปนี้ 1) การปะติด จะเป็นปะติดด้วยเศษผ้า หรือลวดลายผ้าทออื่น ๆ เช่น ผ้าซิ่นตีนจกที่เลือกลวดลาดมาปะติด เป็นถุงย่ามลายผ้าตีนจก ทั้งที่เป็นการนำเศษผ้าตีนจกที่เหลือ มาปะติดทั้งผืนในตัวถุง หรือการตัดทอดลายมาปะติดก็ได้ ซึ่งแบบนี้จะพบเห็นได้มาก 2) การปัก คือการนำเส้นฝ้ายมาปักเป็นลวดลายต่าง ๆ เช่นลายดอกไม้ ใบไม้เป็นต้น รวมถึงการใช้ลูกปัดหรือวัสดุอื่น ประกอบ 3) การทอ คือการวางลวดลายตั้งแต่การทอ ให้เป็นลวดลายต่าง ๆ ลงบนผืนผ้า ซึ่งเป็นเทคนิคที่หาได้ยากพอสมควร 4) การตกแต่งเชิง ทั้งการตกแต่งแบบดั้งเดิม โดยการฟั่นให้เป็นเส้น หรือการตกแต่งด้วยลูกปัด พู่ เป็นต้น 5) การเย็บตะเข็บ นอกจากจะทำให้ถุงย่ามมีความแข็งแรง ทนทานแล้ว ยังเป็นการตกแต่งให้สวยงามอีกด้วย เช่น สนดูกงู , จ่องแอววอก, การสอยเป็นเลข 8 ฯลฯ ส่วนขาถุงนั้น ก็มีความยาวกับตัวถงเป็น 3:1 เป็นมาตรฐานทั่วไป ทั้งนี้ การนำติดตัวก็มีอยู่ 4 แบบด้วยกัน 1) การสะพายข้าง ลักษณะแบบนี้ บางแห่งจะเรียกว่า ปาถง ถงที่ปา บางทีก็เรียกว่า ถงปา ก็มี การสะพายข้าง คือการห้อยถุงไว้ไหล่ด้านใดด้านหนึ่ง 2) การสะพายเฉียง หรือ สะหว้ายแหล้ง, สะปายแหล้ง คือการสะพายเฉียงบ่า โดยขาถุงอยู่ที่ไหล่ข้างหนึ่ง ส่วนตัวถุงก็อยู่อีกข้างหนึ่ง 3) การเป๊อะ คือใช้ขาถุง หรือสายถุงคาดไว้ที่หน้าผาก เหมาะสำหรับถุงที่มีขนาดใหญ่ ใส่ของได้จำนวนมาก หรือใช้สำหรับใส่ของไปป่า หรือเก็บของจากป่า จากไร่ เป็นต้น ถุงที่มีขนาดใหญ่นี้ มักเรียกว่า “ถงเป๋อ” 4) การเลียนแบบการสะพายกระเป๋าเป้ คือการสอดหัวเข้าไปในขาถุง แล้วตวัดตัวถุงไปด้านหลัง แบบนี้เหมาะสำหรับถุงที่มีขาถุงยาวเป็นพิเศษ นอกจากการที่ขาถุงจะยาวมากกว่าปกติ จะใช้การสะพายแบบพิเศษ (คือแบบที่ 4) แล้ว หากสายยามกว่าปกติ ก็จะใช้วิถี มัดขาถุง ให้ช่วงขาถุงนั้นสั้นเข้า แล้วใช้สะพายข้าง หรือ ห้อยกับหาบ หรือคอนก็ได้ นั่นคือวิธีการนำถงติดตัวไปในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน ส่วนถงนั้น จะใช้ในหลายกรณี นอกจากจะใส่ของในชีวิตประจำวันแล้ว 1) การใช้เป็นของฝากญาติทางสามี ด้วยหญิงนั้นจะทำผ้ากันเป็นปกติอยู่แล้ว และการแต่งงานจะแต่งผู้ชายเข้าบ้านฝ่ายผู้หญิง ฉะนั้น ผู้หญิงเมื่อไปเยี่ยมญาติฝ่ายสามี ก็จะมีถุงย่ามที่ทอและตัดเย็บ เป็นของฝาก ไปให้กับทางญาติฝ่ายสามี โดยจะใส่ของฝากอื่น ๆ ลงไปในถุงย่ามด้วย 2) การใช้เป็นเสบียงบุญต่อไปในภพหน้า ในงานศพนั้น นอกจะมีถุงสำหรับให้สัปเหร่อนำเข้าป่าช้าที่เรียกว่า ถุงข้าวด่วน แล้ว ซึ่งถุงข้าวด่วนบางทีก็ไม่ได้ทำในรูปแบบของถุงย่ามนี้ก็ได้ แต่สำหรับถุงที่ใช้เป็นเสบียงบุญนี้ จะเป็นผ้าขาวที่ตัดเย็บ เป็นถุง ใส่ข้าวของเครื่องใช้ แล้วอุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับไป ให้นำติดตัวไปใช้ในภพหน้า



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องไม่ได้ : InTangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

งานช่างฝีมือดั้งเดิม : TC : Traditional Craftsmanship ผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : บ้านท้องฝาย ต. ช่างเคิ่ง อ. แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่ 50270

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

แม่อิ่นศรี กรรณิกา

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

เจษฏา สุภาศรี : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา : 2566 Advance Track

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
-
พิกัด GPS

มีผู้เข้าชมจำนวน :7 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 23/12/2024 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 23/12/2024