วัดติโลกอาราม สามารถสอบทานกำหนดอายุที่สร้างวัดใน พ.ศ.2019 ข้อมูลปรากฎใน “จารึกวัดติโลกอาราม” พย.175 ที่มีเนื้อความกล่าวถึงความเป็นมาของการสร้างวัดนี้ที่หนองเต่าในสมัยพระเจ้าติโลกราช(พ.ศ.2019-2020) มีการผูกพัธสีมาและบวชพระภิกษุจำนวน4รูป (หนังสือจารึกที่ค้นพบใหม่ในเมืองพะเยา, วัดศรีโคมคำ,พ.ศ.2552,หน้า 102.) - การตั้งกลุ่มสังฆารามในบริเวณกว๊านพะเยาแสดงความหมายถึง“พุทธภูมิพิสุทธิ์”หรือ “พุทธภูมิที่บริสุทธ์” ปรากฏใน “จารึกวัดคามวาสี-อรัญวาสี พย.56” เนื้อความในจารึกได้กล่าวถึง “พุทธภูมิพิสุทธิ์” ซึ่งเป็นนัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสังฆารามหรือกลุ่มสังฆารามในบริเวณกว๊านแห่งนี้ ตีความได้ถึงการเปรียบเปรยหรือยกย่องสังฆารามเสมือนเป็นดินแดนพุทธศาสนาอันบริสุทธิ์ โดยจารึกดังกล่าวนี้พบได้ที่วัดร้างในกว๊านพะเยาซึ่งอยู่ไม่ห่างวัดติโลกอารามมากนัก ดังนั้นวัดดังกล่าวนี้น่าจะเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มสังฆารามที่หนองเต่า โดยมีความสัมพันธ์กันในลักษณะของคณะสงฆ์นิกายเดียวกัน คือพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ฝ่ายอรัญวาสี(สำนักวัดป่าแดง)นิกายที่ได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้าติโลกราชและพระยายุธิษฐิระเป็นอย่างมาก (พระธรรมวิมลโมลี, พระเจ้าตนหลวง, 79). เหตุด้วยพระเจ้าติโลกราชทรงเชื่อในเรื่องความเป็นพุทธศานาอันบริสุทธิ์ จะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงสนับสนุนพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสีสำนักวัดป่าแดง เพราะทรงเห็นว่าเป็นฝ่ายที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย แตกต่างจากพระภิกษุฝ่ายคามวาสีสำนักวัดสวนดอก ซึ่งไม่ค่อยเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเนื่องด้วย ถือไม้เท้าบิณฑบาต สะสมเงินทอง มีนาจังหันมากมาย ออกเสียงสวดไม่ถูกต้อง และที่สำคัญที่สุดคือประเด็นเรื่องการบวชพระไม่ถูกต้องเป็นอลัชชี ถือบวชโดยพระสงฆ์ไม่ครบจำนวน 5 รูป มาตั้งแต่สมัยมหาสวามีอุทุมพรแห่งนครพัน เมาะตะมะ(พ.ศ. 1900) ส่งผลให้มีเหตุการณ์ที่พระเจ้าติโลกราชต้องสั่งถอดถอนและหมุดหมายนิมิต สีมาและจารึกของวัดในล้านนาหลายพื้นที่และให้มีการผูกสีมาและเขียนจารึกขึ้นใหม่ เมืองพะเยาก็เป็นเมืองหนึ่งที่ได้รับคำสั่งนั้น และนอกจากนี้ยังเกิดเหตุการณ์อุปสมบทแก้เปลี่ยนนิกายอันเป็นการญัตติพระภิกษุจากนิกายหนึ่งไปสู่อีกนิกายหนึ่งในอุทกุกเขปสีมา ดังเช่นปลายปีฉลู จุลศักราช 795 มีการบวชเปลี่ยนนิกายในสมัยพระเจ้าติโลกราช และพระองค์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์การบวชในอุทกุกเขปสีมาในครั้งหนึ่งที่เพิ่งผ่านราชสมบัติได้ 5 เดือน อุปสมบทกุลบุตรประมาณ 500 รูป ที่ท่าสถานหลวงในแม่น้ำพิงค์เมื่อเดือนยี่ (กรมศิลปากร, ชินกาลมาลีปกรณ์,2507, 122-124.) ซึ่งทั้งนี้ในบันทึกเอกสารโบราณหลายฉบับของล้านนานพบใช้การกำหนดอุทกุกเขปสีมาที่กระทำกลางแม่น้ำหรือสถานที่มีน้ำขั้งโดยตลอด โดยในล้านนามีวัฒนธรรมการกระทำอยู่บ่อยครั้งทั้งที่บางทีการสมมติวิสุงคามสีมาไว้แล้วแต่ก็ยังคงนิยมกระทำในอุทกุกเขปสีมาอยู่มาก และลักษณะภูมิประเทศของกว๊านพะเยาแต่ก่อนที่เป็นหนองหรือแอ่งน้ำขังก็เอื้อต่อการทำอุทกุกเขปสีมาอยู่แล้วนั้น คุณลักษณะของสถานที่ตั้งนี้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญสิ่งหนึ่งที่ยิ่งตอกย้ำในการสร้างความหมายของ “พุทธภูมิพิสุทธิ์” ในบริเวณกว๊านให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และการตั้งกลุ่มสังฆารามในบริเวณดินแดนนี้นับได้ว่าเป็นการสร้างศูนย์กลางพุทธศาสนาในเมืองพะเยา ที่ทรงอุปถัมภ์โดยพระเจ้าติโลกราชในดินแดนอันบริสุทธิ์แห่งนี้ด้วย (พระธรรมวิมลโมลี, พระเจ้าตนหลวง, 77-82.) * การสร้างวัดในพื้นที่บริบทกว๊านพะเยาในสมัยพระเจ้าติโลกราชสะท้อนแนวความคิดของความเป็น “ธรรมราชาผุ้อุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาอย่างพระเจ้าอโศกมหาราชกษัตริย์แห่งชมพูทวีป” ปรากฏเนื้อความและสามารถตีความได้จากหลักฐาน “จารึกวัดสันต้นม่วง (จารึกสมเด็จพระราชาอโศกมหาราช) พย.45” (เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ, พระญายุธิษฐิระ, 2559, 45.) ซึ่งการตีความให้หมายถึงกลุ่มวัดหรือสังฆารามในกว๊านพะเยา ณ บริเวณหนองเต่า เทียบเท่าเป็นชมพูทวีปนั้น ถือเป็นองค์ความรู้ที่อยู่ในโลกทัศน์ของสภาพบริบททางสังคมวัฒนธรรมของการนับถือพระพุทธศาสนาในสมัยนั้น
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล : KP : Knowledge and Practices concerning nature and the .
เลขที่ : ชุมชนวัดศรีอุโมงค์คำ ต. เวียง อ. เมืองพะเยา จ. พะเยา 56000
นาย วรินทร์ รวมสำราญ
วรินทร์ รวมสำราญ : มหาวิทยาลัยพะเยา :