PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : SP-50130-00008 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

บวชลูกแก้ว
poy sang long

บวชลูกแก้วหรือปอยส่างลอง ประเพณีบวชลูกแก้วหรือที่ชาวไทใหญ่เรียกว่า ประเพณีปอยส่างลอง มักจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม โดยจัดประมาณ ๓-๕ วัน เป็นประเพณีทางพุทธศาสนาที่จัดให้ลูกหลานเด็กผู้ชายที่มีเชื้อสายไทใหญ่อายุตั้งแต่ ๑๒ ปีขึ้นไป พบในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและในจังหวัดเชียงใหม่บางอำเภอ ซึ่งคำว่าปอย หมายถึง งานหรือประเพณี คำว่า ส่าง แปลว่า น้อยหรือผู้บวชเป็นสามเณรแล้วลาสิกขา เป็นภาษาไทใหญ่ ส่วนคำว่า ลอง หรือ อลอง แปลว่า รัชทายาท ก่อนการจัดประเพณีปอยส่างล่อง เจ้าบ้านจะจัดทำกำหนดการเพื่อเชิญชาวบ้านหรือบุคคลที่สนิทคุ้นเคยกัน แล้วส่งคนไปบอกบุญตามบ้านต่าง ๆ เรียกว่า ตกเทียน โดยนำเทียนไปแจกและบอกกำหนดการ ผู้ที่ได้รับเชิญจะไปร่วมงานและนำของใช้หรือเงินไปช่วยเจ้าภาพตามกำลังศรัทธา เมื่อถึงวันงาน เริ่มด้วยการโกนผมของส่างลอง ให้เหลือแค่คิ้ว แต่งหน้า ทาปาก สวมใส่เครื่องประดับที่มีค่า เช่น สร้อยคอ กำไล แหวนและใช้ผ้าโพกศีรษะแบบชาวพม่า พร้อมเสื้อเชิงงอนปักดิ้นไหม นุ่งโจงกระเบนงดงาม คาดเอวด้วยเข็มขัดเงิน ผู้ที่เป็นพระอุปสมบทให้ส่างลอง เรียกว่า จองลอง และมีพี่เลี้ยงคอยปฏิบัติดูแลอย่างน้อยสามคน เรียก “ตะแปส่างลอง” ในวันแรกของงานซึ่งเริ่มพิธีในเวลาเช้ามืด โดยพี่เลี้ยงจะนำส่างลองไปซ่อน เพื่อเรียกเงินจากเจ้าภาพ เมื่อได้เงินแล้วจะนำส่างลองขี่ขึ้นคอแล้วแห่ในขบวนพิธี โดยนำม้าเปล่า ๑ ตัวเดินนำขบวน ซึ่งถือกันว่าเป็นม้าสำหรับเจ้าเมืองขี่นำไปทำพิธีการกุศล ขบวนแห่ส่างลองจะบรรเลงด้วยฆ้อง ฉาบและกลอง และตะแปส่างลองจะเต้นตามจังหวะเพลงโยกส่ายไปมาเพื่อสร้างความสนุกครื้นเครง นำขบวนแห่ไปตามสถานที่สำคัญ เช่น ศาลหลักเมือง เจ้าอาวาสหรือญาติผู้ใหญ่ เพื่อรับศีลรับพร วันที่สองเรียกว่า วันแห่ครัวหลู่ หรือวันแห่เครื่องปัจจัยไทยทานถวายพระสงฆ์ ไปตามถนนต่าง ๆ ตะแปส่างลองต้องให้ส่างลองขี่คอ และใช้ร่มทาสีทอง หรือที่เรียกว่า ร่มทีคำ ถือบังแดด ห้ามไม่ให้เท้าแตะพื้น เปรียบเหมือนส่างลองเป็นรัชทายาท ช่วงเย็นมีพิธีคำขวัญและสวดคำขวัญ เพื่อให้เห็นถึงบุญคุณของบิดาและมารดา หลังจากนั้นผู้คนที่สนิทกันเข้ามาอวยพรและพบปะสังสรรค์กันที่บ้าน วันที่สามหรือวันหลู่ ถือเป็นวันที่สำคัญ เพราะเป็นวันที่จะต้องนำเครื่องไทยทานถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ อาราธนาศีลและเปลี่ยนการแต่งกายจากชุดลำลองเป็นผ้าไตร เข้าเป็นสามเณรอย่างสมบูรณ์ มักบวชเป็นระยะเวลา ๑๕ วัน ไปจนถึง ๑ เดือนจึงจะสึกออกมา ประเพณีบวชลูกแก้วนี้ชาวไทใหญ่นิยมจัดขึ้นอย่างใหญ่โต บางคนใช้เงินที่สะสมไว้เป็นเวลาหลายปีเพื่อจัดงาน เพราะมีความเชื่อว่าเป็นงานพิธีซึ่งได้บุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ต่อตนเองและคนในครอบครัว ปัจจุบันงานประเพณีบวชลูกแก้วหรือปอยส่างลอง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญของชาติและส่งเสริมให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนและเป็นการปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม นำไปสู่ความเข้าใจและเห็นคุณค่าในความแตกต่างทางวัฒนธรรมทั้งในระดับประเทศและระดับสากล



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องไม่ได้ : InTangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล : SP : Social Practices, ritual and festive events ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับศาสนา
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : บ้านมอญ ต. สันกำแพง อ. สันกำแพง จ. เชียงใหม่ 50130

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : 2567 Open call

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
-

มีผู้เข้าชมจำนวน :19 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 07/04/2025 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 07/04/2025