ผ้าซิ่นไทลื้อจะมีลวดลายตรงบริเวณสะโพกเพื่อทำให้เกิดความโดดเด่นในเวลานุ่งซิ่น มีที่มาเชื่อมโยงกับตำนานและนิทานเก่าแก่ของชาวไทลื้อ ซึ่งอธิบายความหมายและที่มาของตำแหน่งลายผ้าซิ่นไทลื้อ อันได้แก่ “ตำนานพื้นเมืองสิบสองพันนา” และนิทาน “แม่ย่าหมาลาย” ซึ่งแม้ว่ารายละเอียดของตำนานและนิทานแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละสำนวน แต่สัญลักษณ์ต่างๆที่ปรากฎในตำนานและนิทานล้วนสะท้อนความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษและอำนาจเหนือธรรมชาติซึ่งผู้หญิงชาวไทลื้อยังยึดถือสืบต่อกันมาอย่างมั่นคง “ตำนานพื้นเมืองสิบสองพันนา” กล่าวว่า ณ เมืองอาฬวีเชียงรุ่ง เทวบุตรได้ลงมาเกิดเป็นหมาตัวหนึ่ง มีฤทธานุภาพมาก ได้ฆ่าผู้ชายตายหมดทั้งเมือง และได้นางทั้งหลายเป็นภรรยา เมื่อหญิงใดคลอดลูกออกมาเป็นเด็กผู้ชาย พ่อหมาก็จะฆ่าทิ้งทั้งหมดเหลือไว้แต่ลูกผู้หญิง แต่มีหญิงนางหนึ่งคลอดลูกออกมาเป็นชายและได้แอบซ่อนไว้ในถ้ำ เลี้ยงดูจนเติบใหญ่นามว่า “เจ้าเกลือกกล้าชายชาญ” วันหนึ่งเมื่อพ่อหมารู้ว่ามีลูกชายเหลือรอดมา จึงหมายจะฆ่าเสีย เจ้าเกลือกกล้าได้ต่อสู้และฆ่าพ่อหมาตายในที่สุด เลือกของพ่อหมาไหลนองเต็มไปหมด บรรดาหญิงทั้งเมืองต่างพากับเศร้าโศกเสียใจ อาลัยหมาผู้เป็นสามีและได้เอามือเช็ดเลือดหมามาป้ายตรงผ้าซิ่นช่วงสะโพก ทำให้เกิดเป็นลวดลายของผ้าซิ่นของหญิงชาวไทลื้อสืบมา ส่วน นิทาน “แม่ย่าหมาลาย” เป็นนิทานที่เล่าถึงที่มาของชื่อสถานที่ต่างๆ ในเขตเมืองเชียงรุ่ง เช่น ชื่อ “ดอยก้องหมาร้อง” ที่อยู่ใกล้ “เวียงผาคราง” ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอคำเมืองเชียงรุ่งในอดีต ว่ามีที่มาจากหมาร้องด้วยความเจ็บปวดก่อนสิ้นใจ บรรดาผู้หญิงที่ได้ยินเสียงร้องก็พากันมาร้องไห้ด้วยความอาลัย โดยเอาผ้าซิ่นเช็ดเลือดหมาและตัดหางหมามาเหน็บที่ผ้าโพกหัวเป็นที่ระลึก ด้วยเหตุนี้ผ้าซิ่นลายริ้วขวางที่เรียกว่า “ซิ่นตา” ของชาวไทลื้อจึงมีสีแดงสีเขียวสลับกัน สีแดงก็คือสีเลือดของหมา และผ้าโพกหัวผู้หญิงจึงมีชายผ้าโผล่ออกมาเหมือนหางหมา
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
วรรณกรรมพื้นบ้าน : FL : Folk Literature ตำนานพื้นบ้าน
.
เลขที่ : หมู่ที่ 15 ต. ศรีดอนชัย อ. เชียงของ จ. เชียงราย 57140
นายสุริยา วงศ์ชัย
สถาบันศิลปวัฒนธรรมและอารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โทรศัพท์: 0-5391-7067 อีเมล:mekong-museum@mfu.ac.th
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง : 2567 Open call