ผู้สร้างวัดเป็นครอบครัวที่หนีพม่ามาจากกรุงศรีอยุธยาพาครอบครัว และทรัพย์สมบัติลงเรือรอนแรมมาจนถึงสถานที่สร้างวัดปัจจุบันนี้ เห็นสถานที่สงัดและร่มรื่นในคลองบางกะพ้อม (โบราณคงมีชื่ออื่น) จึงได้สร้างที่พักอาศัยอยู่ พร้อมทั้งสานกระบุง ตระกร้า เสื่อ และพ้อม (พ้อม เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่สำหรับใส่ข้าวเปลือก มีลักษณะก้นสอบ กลางป่อง ปากสอบ กว้างตั้งแต่ ๒ – ๔ ศอก สูงประมาณ ๔ ศอก สานตั้งแต่ก้นก่อน แล้วจึงสานด้านข้าง ผู้สานต้องเข้าไปนั่งหรือยืนสานอยู่ข้างใน ยิ่งสานก็ยิ่งสูงขึ้นไปจนบังตัวผู้สาน เหลือเพียงไหล่ หรือศีรษะโผล่ออกมา) ออกจำหน่ายเพื่อเป็นค่ายังชีพ อยู่มาวันหนึ่ง มีคนวิ่งมาบอกว่า มีกองทหารพม่ามาให้รีบหลบหนีไปเสีย สองผัวเมียกำลังสานพ้อมอยู่ เห็นว่าหนีไปไม่ทันแล้ว จึงได้แอบบังตัวอยู่ในพ้อมที่กำลังสานขาย พร้อมทั้งตั้งสัตนาธิษฐาน ต่อพระรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายว่า ขออย่าให้พม่าเห็น หากรอดพ้นไปได้ก็จะสร้างวัดถวาย ณ สถานที่นี้ เมื่อท่านผู้นี้ได้ออกจากพ้อม ปลอดภัยจากพม่าแล้วจึงได้สร้างวัดถวายที่ตั้งสัตยาธิษฐานไว้ ชื่อว่า “วัดบังกับพ้อม” ต่อมาชื่อที่เรียกก็เพี้ยนเป็น “บังกะพ้อม” และ “วัดบางกะพ้อม” ในปัจจุบัน ครอบครัวของท่านผู้นี้ ได้สร้างอุโบสถเรือนไม้ วิหารประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ และศาลาโรงทาน ได้ตั้งเป็นวัด ที่มา :สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสงคราม :https://skm.onab.go.th/th/content/category/detail/id/110/iid/5579
จับต้องได้ : Tangible.
โบราณสถาน : AS : Archeological Site .
เลขที่ : ชุมชนบางกะพ้อม1 ต. อัมพวา อ. อัมพวา จ. สมุทรสงคราม 75110
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสงคราม
ก้อง : มหาวิทยาลัยศิลปากร : 2564 ป.1