การจัดการแข่งขันชนวัวในภาคใต้นั้น แต่ละจังหวัดจะจัดไม่พร้อมกัน เพื่อให้มีการหมุนเวียนกันชน ผู้ที่สนใจกีฬาวัวชนหรือผู้เลี้ยงวัวชนจะได้พบปะพูดคุยกันอย่างทั่วถึง จนทำให้มีความคุ้นเคยกันจนกลายเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมโดยมีวัฒนธรรมชนวัวเป็นสื่อกลางกลายเป็นวัฒนธรรมร่วมของสังคม กีฬาชนวัวจึงกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของภาคใต้ นอกจากนี้กีฬาชนวัวยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อหลายอย่าง เช่น การคัดเลือกพันธุ์วันที่มีลักษณะดี ถูกต้องตามตำรา และยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ปนอยู่ด้วย ซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อเจ้าของวัวชน ดังนั้น ผู้เลี้ยงวัวชนจะมีความเพียรพยายามในการค้นหาคัดเลือกวัวที่มีลักษณะเด่นด้านต่าง ๆ โดยมีความเชื่อและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐานในการคิด พร้อมทั้งมีความตั้งใจในการเลี้ยงดูเอาใจใส่วัวชนอย่างพิถีพิถันในทุก ๆ ด้าน ตัวอย่างความเชื่อเกี่ยวกับลักษณะของวัวชน เช่น วัวชนที่ดีจะต้องมีเขา ขวัญ สีที่มีลักษณะเฉพาะ หน้าหัวแคบ หู ตาเล็ก หางร่วง ขนที่กระจุกของหางยาวและเหยียดตรงไม่หยักศกหยิกงอ หัวรก ขนที่บริเวณหน้าหัวคิ้วและบริเวณโคนขาทั้งสอบข้างหนา แน่น และทึบ ขนที่อยู่บริเวณอวัยวะเพศดก คิ้วหนา หน้าสั้น เขาใหญ่ ลูกไข่ช้อนไปข้างหน้า คร่อมอกใหญ่ ท้องใหญ่ กระดูกใหญ่ คอยาวใหญ่ ขนละเอียด ข้อเท้าสั้น เป็นต้น ลักษณะขวัญที่ดี เช่น ขวัญจำใจอยู่บริเวณกลางหลัง ขวัญเทวดานั่งร่มอยู่บริเวณใต้โหนก ขวัญคาบแก้วอยู่บริเวณใต้คาง ส่วนขวัญที่อยู่ใต้กีบที่เรียกว่า “ปราบทวีป” นั้นเชื่อว่าดีเลิศ ในขณะที่ขวัญดอนเรือ ขวัญชะโงกคอก และขวัญท่าดาบ เป็นขวัญที่ไม่ดี เป็นต้น นายวินัย อินทานุกูล เล่าว่า ในอดีต สนามแข่งขันชนวัว ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ว่างข้างป่าช้าของวัดเขาผี ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ทุกๆ ปี 1 ปี จะจัดการแข่งขัน 1-2 ครั้ง แต่ปัจจุบันสนามแข่งขันชนวัวในพื้นที่ชะแล้ ไม่มีการใช้งาน เนื่องจากมีสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสนามแข่งขัน ในปี พ.ศ. 2563 ทำให้สนามแข่งขันชนวัวถูกสั่งปิด จึงหลงเหลือไว้เพียงการแข่งวัวชน ในช่วงประเพณีวันว่าง ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือน 5 (เดือนพฤษภาคม) หรือที่เรียกว่า แรม 2 ค่ำ เดือน 5 นับเป็นการแข่งเพื่อการกุศล นำเงินที่ได้ร่วมบูรณาสิ่งของต่างๆ ภายในวัด จะเริ่มการละเล่นในช่วงบ่ายเป็นต้นไป หลังจากทำพิธีทางพระพุทธศาสนาในช่วงเช้าเสร็จสิ้น ในกรณีการชนวัวในวันว่าง สามารถนำวัวมาชนได้เลย ไม่ต้องนำวัวมาเปรียบก่อนการแข่งขัน และสามารถชนการแข่งขันวัวชนประมาณ 2-3 คู่ ลักษณะของวัวที่ใช้ชน : วัวที่จะใช้ชนนั้นจะต้องเป็นพันธุ์วัวชนโดยเฉพาะ วัวใช้งานธรรมดาจะนำมาเป็นวัวชนไม่ได้ลักษณะของวัวชนที่ดีจะต้องมีใจทรหดอดทน มีไหวพริบในการชนดีและมีลักษณะอื่นๆ ที่ดีอีกหลายอย่าง ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ตำบลชะแล้ มีคุณลุงเลี่ยง บางพงศ์ ที่มีตำราการดูลักษณะวัวที่ใช้ชนได้ รวมทั้งยังสามารถดูดวงให้วัวในการแข่งได้อีกด้วย โดยการนำชื่อวัวของทั้ง 2 ฝ่าย มาใช้ในการดู การเลี้ยงวัวชน : เนื่องจากวัวชนสามารถนำเงินนำทองให้เจ้าของปีละมากๆ จึงต้องเลี้ยงดูกันอย่างดี มีหญ้า มีน้ำให้กินอย่างอุดมสมบูรณ์ อาบน้ำขัดสีฉวีวรรณวันละ 2 หน ต้องฝึกหัดกำลังให้วิ่งทุกๆ เช้า-เย็น และใช้ไม้ตีที่คอทุกวันเพื่อให้มีกล้ามเนื้อขึ้นทำให้คอแข็งแรงและให้ฝึกชนกับวัวอื่นๆ บ้าง แต่ไม่ถึงกับให้แพ้ชนะกันเช่นเดียวกับซ้อมมวย ผู้เลี้ยงจะต้องคอยดูแลอย่างดี มิให้ใครเข้าใกล้โดยเฉพาะคนฝ่ายตรงกันข้าม กลางคืนถ้ามียุงชุมจะให้นอนในมุ้งอย่างดีเรียกว่าให้อยู่ดีกินดี ยิ่งใกล้วันชนจะต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะอาจถูกฝ่ายตรงกันข้ามลอบวางยาหรือทำอาถรรพ์อย่างหนึ่งอย่างใดให้พ่ายแพ้ได้ในวัวแข่งขัน การเปรียบวัว : ก่อนจะถึงการชนจะมีการเปรียบวัว คือการนำวัวไปที่สนามวัวหรือที่ใดที่หนึ่งซึ่งมีการกำหนดนัดหมาย ล่วงหน้า 1 เดือน เพื่อเปรียบดูวัวที่จะชน โดยการนำวัวไปยืนใกล้ๆ กัน เพื่อดูให้แน่ว่าตัวไหนมีส่วนได้เปรียบเสียเปรียบกันตรงไหน ถ้าเห็นว่าต่างก็ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันเท่าไรจึงตกลงชนกันได้ หรือของใครมีดีพิเศษถึงจะเสียเปรียบในรูปร่างส่วนสัดกันบ้างเขาก็จะยอมกัน ในการเตรียมตัวก่อนแช่งขัน 1 เดือน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) 15 วันแรก เพื่อการเตรีนมตัวแข่ง 2) 15 วันหลัง นำวัวไปไว้ในคอกที่จะใช้แข่ง เจ้าของวัวจะไปอยู่ร่วมคอกกับวัว ทั้งการกิน การนอน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องไม่ดีขึ้นกับวัวของตนเอง และมีคนเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด ตลอดเวลาทั้งกลางคืนกลางวัน มีหมอวัวเสกหญ้าและน้ำให้กินเพื่อให้มีกำลังและช่วยขจัดปัดเป่าการกระทำคุณไสย มีการประพรมน้ำมนต์น้ำพร และจะมีหมอมาทำกรวยจากใบตองหรือปลอกเขาซึ่งทำด้วยทองเหลืองหรือไม้ไผ่สวมเขาทั้งสองไว้มีผ้ายันต์ ผ้าประเจียดผูกคอวัว ซึ่งจะถอดออกเมื่อจะปล่อยให้วัวชนกัน และก่อนที่จำนำวัวเข้าคอกที่ใช้ในการแข่งนั้น ต้องทำพิธีจุดธูป ขอขมาและปัดเป่าสิ่งไม่ได้ให้ออกจากคอก รวมทั้งเจ้าของวัวจะต้องทำการตรวจสอบคอกที่วัวจะต้องนอนว่ามีสิ่งแปลกปลอมต่างๆ อยู่ภายในหรือไม่ เพื่อไม่ให้วัวเกิดความผวา และหวาดกลัวในการหลับนอน การวางวัว : เมื่อถึงเวลาชนหมอจะประพรมน้ำมนต์วัวแล้วเดินนำหน้า มีคน 2 คน จูงวัวตามหลัง ที่ต้องจูงสองคนเพราะจับปลายเชือกคนละข้าง เชือกนั้นยาวประมาณ 1 เมตร สอดเข้าไปในห่วงหวายที่ร้อยจมูกวัวไว้ (ห่วงหวายที่ว่านี้ชาวภาคใต้เรียกว่า "เทียนพราง" ) พอถึงกลางสนามคนหนึ่งจะปล่อยก่อน อีกคนหนึ่งจะดึงเชือกนั้นให้หลุดจากห่วงหวาย เวลาจะปล่อยเชือกนี้จะตีกลองสัญญาณ 2 ครั้งเพื่อได้ปล่อยวัวพร้อมกัน วัวทั้งสองจะได้เข้าชนกัน
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
กีฬาภูมิปัญญาไทย : SM : Folk Sport game and Martial arts กีฬาพื้นบ้าน
.
เลขที่ : ต. ชะแล้ อ. สิงหนคร จ. สงขลา 90330
นายวินัย อินทานุกูล
0611782255
Rujiya1995@gmail.com : มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ :