Icon
PMU ทุนทางวัฒนธรรม


      การทอผ้า เป็นงานศิลปะหัตถกรรมประเภทหนึ่งที่มักนำมาใช้อ้างอิงเพื่อสะท้อนความงดงามของศิลปะและวัฒนธรรมเสมอ โดยเป็นกรรมวิธีที่ใช้เส้นด้ายมาสอดประสานกันถักทอเป็นผืนผ้าด้วยลวดลายวิจิตร ขึ้นกับจินตนาการและประสบการณ์ของผู้ถักทอ "ผ้าเงี่ยงนางดำ" เป็นงานหัตถศิลป์ประเภทหนึ่ง ซึ่งประจำถิ่นสูงเนิน จ.นครราชสีมา โดยการสืบสานวัฒนธรรมของชาวลาวเวียงที่มีอัตลักษณ์อย่างโดดเด่น ด้วยการทอด้าย สีพื้นสลับกับเส้นด้านสองสีตีเกลียวกันเกิดเป็นลวดลายที่เรียกว่า "เงี่ยง" ส่วน "นางดำ" เป็นเชิงผ้าซิ่นที่เกิดจากการนำ เส้นด้ายย้อมด้วยมะเกลือเป็นสีเข้ม ทอให้เกิดลวดลายแนวขวาง และมี "หัวซิ่น" ที่นิยมทอด้วยด้ายสีแดงสอดลายแนวตั้งด้วยด้ายสีขาวและสีเหลือง เกิดเป็นศิลปะงดงามบนผืนผ้า ที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวสูงเนิน มาอย่างช้านาน อย่างไรก็ดี ผ้าเงี่ยงนางดำยังเป็นที่รู้จักในแวดวงจำกัด ประกอบกับการรุกล้ำของโลกอุตสาหกรรมที่ทำให้วัฒนธรรมการทอผ้าในกลุ่มชาวบ้านหายไป แม้ความสนใจในผ้าเงี่ยงนางดำจะมากขึ้นตามกระแสการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม แต่กระบวนการผลิตที่มีอยู่กลับไม่เพียงพอต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของท้องตลาด และอาจเสี่ยงต่อการสูญหายไปของภูมิปัญญาอันงดงามเนื่องจากไม่มีผู้สืบทอด "มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา" ในฐานะเจ้าของพื้นที่ จึงขอเป็นตัวแทนหยิบยกเรื่องราวของ "เงี่ยงนางดำ"มานำเสนอสู่สาธารณชนใหม่อีกครั้ง ด้วยการระดมภาคีเครือข่ายที่หลากหลาย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน โรงเรียน ผู้ประกอบการ ช่างฝีมือพื้นถิ่นที่รังสรรค์ผืนผ้า และคนคืนถิ่น/คนรุ่นใหม่มาพบกัน เพื่อสืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาในการถักทอผ้าเงี่ยงนางดำให้ยังคงอยู่ โดยกิจกรรมที่มีดำเนินการคือ การปลูกฝังคุณค่าของผ้าเงี่ยงนางดำให้แก่เยาวชนผ่านทางวิชาเรียนต่างๆ ที่ทำให้นักเรียนเข้าใจลายผ้าและสามารถถักทอเป็นผืนสวยงาม พร้อมๆ กับกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาทางเลือกในการสร้างความอยู่รอดของผ้าเงี่ยงนางดำในมิติใหม่ๆ เช่น การฟ้อนนาฏศิลป์ซิ่นเงี่ยงนางดำ การพัฒนาผ้าสู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย ซึ่งน่าจะสร้างการรู้จัก และดึงดูดความน่าสนใจให้แก่ผ้าเงี่ยงนางดำได้มากขึ้น โครงการบริหารชุดโครงการฯ ได้มีโอกาสเยี่ยมชม และติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ รู้สึกประทับใจในความกระตือรือร้นของนักวิจัย ตลอดจนการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีพลังของภาคีเครือข่ายต่างๆ หวังว่าด้วยอานิสงส์แห่งความตั้งใจของชาวสูงเนิน จะก่อให้เกิด "คนต้นแบบนวัตกร สู่ต้นกล้านวัตกรรม" ได้อย่างเป็นรูปธรรมที่จะทำให้ "เงี่ยงนางดำ" ยังคงสืบสานอยู่ได้ และเป็นมรดกวัฒนธรรมอีสานที่แพร่หลายเป็นที่รู้จักของสาธารณชนทั่วไปได้มากยิ่งขึ้น