เดือนพฤษภาคม 2565 ช่วงเวลาแห่งการเดินสายของคณะหมอลำตามคิวงานที่ถูกจองจนเต็มตลอดเดือนไปถึงเดือนมิถุนายน 2565 ทั้งในภาคอีสานและทั่วประเทศ ก่อนพักวงในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง เป็นช่วงเวลาเดินทางมอบความสุข สนุกสนาน ม่วนซื่นแด่มิตรรักแฟนคลับหมอลำ หากแต่ย้อนไปเวลาไปเพียงสองปีก่อนนั้น ภายใต้สภาวการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของ “คณะหมอลำ” และเหล่าสมาชิกกว่าสามร้อยชีวิตของ “คณะหมอลำระเบียบวาทศิลป์” แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น และ “คณะหมอลำใจเกินร้อย บอย ศิริชัย” คณะหมอลำของจังหวัดมหาสารคาม ที่ไม่สามารถทำการเปิดวงทำการแสดงได้ ตามมาตรการของรัฐ คณะหมอลำจึงได้พยายามปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ เพื่อสามารถมีรายได้ดูแลสมาชิกในคณะ และเชื่อมความสัมพันธ์กับกลุ่มแฟนคลับของตนเองในยามร้างไกลจากเวทีจริง ในท่ามการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของคณะหมอลำ กลุ่มนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น มองเห็นว่าสามารถนำองค์ความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยร่วมพัฒนาศักยภาพของวงหมอลำ เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์วัฒนธรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และร่วมสร้างนวัตกรคนรุ่นใหม่ที่จะมาสืบสานศิลปะการแสดงอันทรงคุณค่าของชาวอีสาน ผ่าน “โครงการหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์: วิถีการแปรเปลี่ยนนวัตกรรมและการประกอบการในสังคมเสมือน” โครงการบริหารชุดโครงการฯ ได้มีโอกาสเยี่ยมชม และติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ รับรู้ถึงความพร้อมในการปรับตัวของคณะหมอลำ ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมที่จะร่วมขับเคลื่อนงานท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของโลก และกลุ่มนักวิจัยที่เปี่ยมด้วยพลังในการทำงานเพื่อร่วมสืบสานวงหมอลำให้อยู่คู่สังคมไทยต่อไป