Icon
PMU ทุนทางวัฒนธรรม


        วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 คณะนักวิจัยภายใต้โครงการบริหารชุดโครงการฯ ได้มีโอกาสติดตามกระบวนการวางแผน และความก้าวหน้าในโครงการการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันเศรษฐกิจชุมชนด้วยฐานทุนทางวัฒนธรรม "กันตรึม" สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ . โดยพบว่า แม้จะเป็นการดำเนินงานในระยะเริ่มแรก แต่มหาวิทยาลัยสามารถระดมภาคีเครือข่ายที่มีพลังได้หลากหลาย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะการดึงศิลปินอีสานแห่งชาติ “คุณสำรวม ดีสม หรือ ครูน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ ” เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการในการผลักดันให้กันตรึมเป็นเครื่องมือเชิงเศรษฐกิจที่จะดึงรายได้มาสู่พื้นที่ โดยเจาะจงที่ถิ่นกำเนิดของกันตรึมที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับคือ "หมู่บ้านดงมัน ตำบลคอโค อำเภอเมือง จ.สุรินทร์" ซึ่งเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมเมื่อปี 2527 ภายในหมู่บ้านมีวงกันตรึมทั้งแบบพื้นบ้านและแบบประยุกต์หลายวง เช่น คณะนายพูน สามสี คณะนายปิ่น ดีสม คณะนายโฆษิต ดีสม และวงกันครึมคณะน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ เป็นต้น . ในนามของคณะติดตามฯ ขอส่งกำลังใจ และหวังว่าในช่วงปลายปีเราจะได้เห็นกันตรึมในมิติใหม่ ในรูปวงดุริยางศ์กันตรึม หรือกันตรึม orchestra ซึ่งคาดว่าจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กันตรึม โดยเพิ่มความน่าสนใจที่หลากหลาย และทำให้กันตรึมเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

       ใครไม่รู้จัก “กันตรึม” ยกมือขึ้น "กันตรึม" เป็นศิลปะการละเล่นเพลงพื้นบ้านที่นิยมกันมากในเขตอีสานใต้ โดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์ เป็นการเล่นดนตรีประกอบการขับร้องเป็นภาษาเขมร โดยเชื่อว่ากันตรึม มาจากคำว่าโจ๊ะครึมๆ ซึ่งเป็นจังหวะเสียงกลอง และเพี้ยนมาเป็นกันตรึมในภายหลัง โดยมีเครื่องดนตรีหลักดั้งเดิมอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ปี่อ้อ ตรัว (ซอ) และสก๊วล (กลองโทน) . เมื่อครั้งอดีตกันตรึมถูกใช้เล่นบรรเลงประกอบการบวงสรวง เวลามีการทรงเจ้าเข้าผี หรืองานพิธีกรรมสำคัญต่างๆ เช่น บรรเลงในพิธีแต่งงานเพื่อเป็นเพลงกล่อมหอของคู่บ่าวสาว ซึ่งว่ากันว่า หากไม่มีการบรรเลงกันตรึมในงานแต่ง จะไม่สามารถสู่ขอเจ้าสาวเข้าร่วมเป็นคู่ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ โดยเจ้าสาวจะไม่ยอมร่วมหอลงโลงด้วย . กันตรึมจึงไม่ได้เป็นเพียงการละเล่นดนตรีทั่วๆ ไป แต่ผูกพันอย่างแนบแน่นกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในกลุ่มคนพูดภาษาเขมรถิ่นไทยในเขตอีสานใต้มาอย่างช้านาน และทำหน้าที่เสมือนเครื่องมือทางการการทูต ในการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับกัมพูชาได้เป็นอย่างดี . ปัจจุบันกันตรึมยังคงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย โดยได้รับการปรับเปลี่ยนแนวเพลงตามยุคสมัยท่ามกลางการเติบโตของกระแสเพลงร๊อค สตริง และลูกทุ่ง กลายเป็น “กันตรึมประยุกต์ร่วมสมัย” เน้นความไพเราะของเสียงร้องและความสนุกสนานของทำนองเพลง โดยมีการพัฒนาเอาเครื่องดนตรีสากลเช่น กลองชุด กีตาร์ และไวโอลินมาเล่นประกอบตามความนิยม ทำให้กันตรึมยุคใหม่กลายเป็นบทเพลงที่มีจังหวะเร้าอารมณ์ กระตุ้นให้ผู้ฟังขยับแขนขาตามท่วงทำนองอย่างสนุกสนาน โดยมีเสน่ห์คือท่ารำที่ไม่มีแบบแผนที่เกิดจากอารมณ์ร่วมของนักแสดงและผู้ชม .