การพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์กูยโดยกระบวนการการมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก
วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 คณะนักวิจัยภายใต้โครงการบริหารชุดโครงการฯ ได้มีโอกาสติดตามกระบวนการวางแผน และความก้าวหน้าในโครงการ"การพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์กูยโดยกระบวนการการมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากและพลังสังคมในจังหวัดศรีสะเกษ" ซึ่งขับเคลื่อนโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ภายใต้การนำของรองศาสตราจารย์ ดร.เอมอร แสนภูวา หัวหน้าโครงการวิจัย
.
มรภ.ศรีสะเกษได้นำคณะวิจัยเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตอันงดงามของชาวกูยในบ้านรงระ ตําบลตูม อําเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมีสภาพสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อเฉพาะ และเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ คือ "ความเชื่อเรื่องผีสาง" โดยให้ความสำคัญกับผีบรรพบุรุษเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นที่มาของพิธีร่ายรำที่เรียกว่า "การรำมอ" หรือ "แกลมอ” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาเกี่ยวกับการรักษาการเจ็บป่วยตามความเชื่อของคนในชุมชนที่เชื่อว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นมาจากการไปกระทำการลบหลู่ผีสาง เจ้าที่เจ้าทางและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ต้องอาศัยการเซ่นสรวงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษเพื่อให้เข้าร่างของหมอทรง หรือบางที่เรียกว่า "ผีฟ้า" มารักษาอาการป่วยไข้ให้หายไป ซึ่งวิถีความเชื่อเช่นนี้มีผลต่อระบบความคิด และเป็นกลไกการควบคุมทางสังคมอย่างหนึ่งที่ทำให้ชาวกูยพยายามดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดี ไม่กล้ากระทำการใดๆ ที่ผิดผี อันจะทำให้บรรพบุรุษโกรธขึ้งและลงโทษทัณฑ์ให้ป่วยไข้หรือมีอันเป็นไป
.
นอกจากนี้ ชาวกูยในบ้านรงระ ยังดำรงวิถีชีวิตในวิถีที่สืบทอดมาอย่างช้านาน เช่น การแต่งกายด้วยผ้าไหมย้อมมะเกลือ ซึ่งทำให้เครื่องแต่งกายเป็นสีดำหรือสีทึบ การห่มสไบ การใช้ดอกไม้ร้อยเป็นมงกุฏครอบศีรษะ การทอผ้าไหมลายลูกแก้ว และผ้ามัดหมี่ โดยใช้สีจากธรรมชาติ เช่น สีดอกรงระที่เป็นอัตลักษณ์พิเศษของชาวกูยรงระ การประกอบอาหารแบบชาวกูย เช่น แกงกล้วยใส่ไก่ ป่นกบแห้ง ห่อหมกหน่อไม้ เป็นต้นรวมถึงการใช้ภาษากูยเป็นภาษาประจำถิ่น ที่มีความพิเศษ คือ มีแต่ภาษาพูด แต่ไม่มีภาษาเขียน
.
ชาวกูยที่เราได้สัมผัสในบ้านรงระ นอกจากจะเก่งในการธำรงรักษาอัตลักษณ์ของตนเองแล้ว ยังเก่งในการประกอบอาชีพสมเป็นชาวกูยผู้เก่งกาจในการต่อสู้ชีวิต ชาวกูยรงระในยุค 5.0 ยังสามารถที่จะเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนความเป็นชาติพันธุ์ชาวกูย เช่น ผ้าไหมกูย การแส่ว (ภาษากูย แปลว่า ปัก หรือ เย็บ) ชายผ้าด้วยไหมสีต่างๆ ซึ่งกว่าจะได้ผ้าแต่ละชิ้นต้องผ่านกระบวนการที่แสนยุ่งยากซับซ้อน เริ่มจากการเลี้ยงและสาวไหมจนได้เป็นเส้น ทอเป็นผืน แล้วยังต้องย้อมมะเกลือให้ได้สีดำขลับ จากนั้นเอาผ้าไปหมักในน้ำโคลนเพื่อให้สีติดทนนานไม่ลอก เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงามให้คนสวมใส่
.
นอกจากนี้ ชาวกูยรงระยังขยันหารายได้เสริมจากการปลูกดอกอัญชันตากแห้งเพื่อไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพอีกด้วย
.
ถือเป็นต้นทุนที่ดีสำหรับมรภ.ศรีษะเกษในการเข้าไปยกระดับวิถีชีวิตชุมชนชาวกูยรงระให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการเข้าไปสำรวจและสืบค้นทุนทางวัฒนธรรมเพิ่มเติมโดยผ่านแผนที่วัฒนธรรม (Cultural Map) น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะเป็นการขึงภาพการทำความเข้าใจรากเหง้า วิถีความเชื่อ ความศรัทธา และกำหนดเป็นเค้าโครงการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมที่ทำให้อัตลักษณ์ของชาวกูยโดดเด่นเป็นที่รู้จัก พร้อมๆ ไปกับการใช้องค์ความรู้และภาคีเครือข่ายในการเสริมสร้างพลังเศรษฐกิจฐานรากและพลังทางสังคมของชาวกูยโดยผ่านการขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรมให้ถูกนำมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้น