Icon
PMU ทุนทางวัฒนธรรม

"มโนราห์" หรือ "โนรา" เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละถิ่นที่แตกต่างกัน โดยมีองค์ประกอบของเชิงศิลป์ที่สะท้อนความสามารถของผู้แสดง และศิลปินผู้สรรสร้างที่อยู่ในห่วงโซ่ของการแสดงมโนราห์ทั้งหมด ประกอบด้วยบทร้องเป็นกลอนสดที่ต้องอาศัยปฏิภาณของผู้ขับร้อง ท่ารำ เครื่องดนตรี ท่วงทำนอง การแต่งกายที่โดดเด่นอันประกอบด้วยเทริด ทับทรวง หางหงส์ ปีกเหน่ง เครื่องลูกปัด ฯลฯ รวมถึงพิธีกรรมต่างๆ ทำให้การแสดงมโนราห์มีทั้งแง่มุมของความบันเทิง และในขณะเดียวกันก็มีมนต์ขลังในเชิงพิธีกรรมที่สะกดตรึงผู้ชม โดยเฉพาะพิธีไหว้ครูหรือไหว้ตายายโนรา อันเป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อครู ทำพิธีแก้บนหรือแก้เหมฺรย หรือเพื่อทำพิธียอมรับการเป็นศิลปินโนราคนใหม่ ทำให้การแสดงมโนราห์ไม่ใช่การแสดงที่ใครๆ ก็สามารถร่วมแสดงได้ทันทีเหมือนการร้องรำทำเพลงทั่วไป แต่ผู้แสดงโนราหรือเทือกเถาเหล่ากอของโนราจำเป็นต้องยึดถือเป็นธรรมเนียมแบบแผนที่ถูกส่งต่อกันมาอย่างเคร่งครัด และมนต์เสน่ห์ที่สืบทอดเคียงคู่ภาคใต้มาตั้งแต่สมัยศรีวิชัยนี้เอง ที่ทำให้ปลายปี 2564 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศรับรองขึ้นทะเบียน "โนรา" (Nora) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
.
ทีมวิจัยภายใต้โครงการบริหารชุดโครงการฯ ติดตามกระบวนการวางแผน และความก้าวหน้าในโครงการการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมมโนราห์เพื่อหนุนเสริมระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์จังหวัด
สงขลา โดยคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ซึ่งมีจุดแข็งด้านการทํางานกับชุมชนและประสบการณ์ด้านวัฒนธรรมมโนราห์โดยเฉพาะได้พาให้เราไปดูอัตลักษณ์ของมโนราห์ในแถบพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งมีกลุ่มศิลปินมโนราห์ จํานวน 90 คณะ ศูนย์เรียนรู้ด้านมโนราห์ จํานวน 29 แห่ง และแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์มโนราห์และงานช่างฝีมือ จํานวน 18 แห่ง นอกจากนี้ยังมีธุรกิจ
เชื่อมโยงและเกี่ยวพันกับมโนราห์อีกมากมาย เช่น กิจการเครื่องเสียง อุปกรณ์เวทีการเช่าชุด เป็นต้น
.
นอกจากนี้ คณะวิจัยยังได้ฉายภาพให้เห็นศักยภาพของหนึ่งในพื้นที่โครงการวิจัย คือ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม ซึ่งบริหารจัดการโดยนายสินธพ อินทรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม ที่ให้การสนับสนุนทุนทางวัฒนธรรมมโนราห์ในพื้นที่ โดยมีการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเยาวชนท่าข้ามในรูปของชมรมเพื่อสืบทอดศิลปะการแสดงมโนราห์ การส่งเสริมกลุ่มอาชีพร้อยลูกปัดจนเกิดผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์และนำรายได้แก่ชุมชน และยังมีโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับมโนราห์อีกเป็นจำนวนมากที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการทำให้ศิลปะการแสดงมโนราห์ยังคงทรงคุณค่า ไม่เพียงเฉพาะคนใต้ แต่ยังยืดหยัดให้คนทั่วโลกได้เห็นคุณค่าที่ดำรงอยู่ร่วมกัน