Icon
PMU ทุนทางวัฒนธรรม

เราเคยได้ยินชื่อ"ลังกาสุกะ" มาหลายครั้งผ่านสื่อต่างๆ โดยเป็นอาณาจักรโบราณที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของไทย
.
แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า "อำเภอยะรัง" จ.ปัตตานี เป็นชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย เชื่อว่าเป็นที่ตั้งอาณาจักรโบราณแห่งนี้ โดยคำว่า "ยะรัง" สันนิษฐานว่าเป็นคำแผลงมาจากคำว่า "บราแว" ในภาษามลายูท้องถิ่น ซึ่งตรงกับภาษาไทยว่า "พะวัง" หรือ "พระราชวัง" นั่นแสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่ในอดีตตั้งแต่ครั้งโบราณ
.
วันนี้ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ภายใต้โครงการวิจัย "สืบสานคุณค่า ผ้าพื้นถิ่นยะรังวิถี สู่ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายมุสลิมเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน" ได้นำพาคณะวิจัยจากทีมบริหารจัดการชุดโครงการมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ได้รู้จักกับพื้นที่ยะรังในอีกแง่มุมหนึ่ง คือ เส้นสายลายผ้า และสุนทรียภาพบนผืนผ้ายะรัง ที่ยังคงมีการสืบทอดและพร้อมรองรับผู้คนชาวยะรังต่างถิ่นที่เผชิญพิษภัยของสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ไม่มีงานทำ และหวนกลับมาสร้างความเจริญเติบโตในพื้นที่ด้วยชุดองค์ความรู้จากภายนอก
.
ภายหลังอาหารเช้าแบบพื้นเมือง นักวิจัยฯ พาเราไปพบกับความสามารถในอีกแง่มุมของทหารที่อยู่ในค่ายสิรินธร โดยส่งเสริมการทำบาติกที่รังสรรค์ฝีมือโดยชายชาญทหารที่แข็งแกร่ง ที่มาวาดลวดลายบนผืนผ้า และสามารถเปิดเป็นศูนย์ผ้าบาติกค่ายสิรินธร กลายเป็น OTOP ที่มีชื่อเสียงของพื้นที่ ด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกที่หลากหลาย และมีฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดา ทำให้การทำผ้าบาติกแปลกใหม่กว่าที่เคยพบ และมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น
.
นอกจากนี้ นักวิจัยยังพาเราไปพบกับชุมชนดงต้นหยี ซึ่งไม่เพียงเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์จากลูกหยี แต่ชาวบ้านยังมีฝีมือในการทำกระเป๋าและเครื่องแต่งกายชาวมุสลิมจากผ้า แต่ยังมีส่วนที่ต้องการรับการส่งเสริมคุณค่าและสร้างความโดดเด่นได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นภารกิจที่ท้าทายจากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฟาฏอนีที่จะผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนในการยกระดับการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมผ้ายะรังให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ปิดท้ายหลังรับประทานอาหารเที่ยงในแบบฉบับชาวมุสลิม นักวิจัยฯ ได้นำพาไปพบกับพื้นที่วัฒนธรรมขนาดใหญ่ที่บริหารโดยมหาวิทยาลัย คือ ศูนย์การค้าอาเซียนมอลล์ ที่เป็นเสมือนพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างคนสามจังหวัดกับโลกสากล
.
การลงพื้นที่มหาวิทยาลัยฟาฏอนีเป็นครั้งแรกของนักวิจัย นอกจากจะประทับใจผู้บริหารที่ร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น แวดล้อมด้วยอาคารสถาปัตยกรรมที่สวยงามแล้ว ยังเล็งเห็นโอกาสจากการเป็นประตูขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยกับการเชื่อมโยงสู่โลกอาหรับ โดยพบว่าทรัพยากรการเรียนรู้ สมรรถนะของบุคลากร และนักศึกษามีความเป็นสากลสูง โดยมีนักศึกษาและคณาจารย์ที่หมุนเวียนกันมาจากทั่วโลก และมีบริบทเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับโลกอาหรับ ด้วยวิถีร่วมกันคือ วิถีงดงามแห่งความเป็นมุสลิม เชื่อว่ามิตรภาพที่แน่นแฟ้นนี้ จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถขยายประตูเพื่อเป็นเส้นทางส่งออกทุนวัฒนธรรมของพื้นที่ให้เป็นที่รู้จักของชาวโลก โดยเฉพาะทุนทางวัฒนธรรมอันเกิดจากผืนผ้ายะรัง ที่หากมีการบริหารจัดการอย่างมีกลยุทธ์และพัฒนาคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับแล้ว จะกลายเป็นอัตลักษณ์ และสร้างเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมให้แก่คนในพื้นที่สมดังเจตจำนงของมหาวิทยาลัยฟาฏอนีโดยไม่ยาก