Icon
PMU ทุนทางวัฒนธรรม

เราจะพบเห็นหม้อและเตาเครื่องปั้นดินเผา เมื่อไปทานจุ่มจิ้ม อาหารอีสานที่เป็นที่นิยม ด้วยรสชาติอาหารแสนอร่อยและความคุ้นชิน เราคงไม่ได้ใส่ใจว่าหม้อและเครื่องปั้นดินเผาเหล่านั้นมีที่มาจากแหล่งผลิตใด
ชุมชนบ้านหม้อ ตำบลเขวา อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม สมาชิกชุมชนย้ายถิ่นฐานมาจากนครราชสีมาเกือบสองร้อยปี พร้อมนำองค์ความรู้การปั้นหม้อและเครื่องปั้นดินเผาติดตัวมาและเป็นทุนในการสร้างอาชีพปั้นหม้อ แหล่งผลิตหม้อสำคัญของมหาสารคาม และที่มาของหม้อและเตาเครื่องปั้นดินเผาในการทานจุ่มจิ้ม
กระบวนการการผลิตหม้อของชุมชนบ้านหม้อในปัจจุบันยังคงสืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิมตัั้งแต่การหาดินและเตรียมดินโดยผสมดินเหนียวกับหัวเชื้อให้เป็นเนื้อเดียวกัน ปั้นเป็นแท่งตามขนาดที่ต้องการ การนำไม้กลิ้งมากลิ้งให้เป็นรูขนาดตามต้องการที่จะทำภาชนะ ขึ้นดินปากพอหยาบๆ และนำไม้ตีราบมาตีผิวดินให้เรียบ ทำปากหม้อให้ได้รูปทรงที่ต้องการ และตกแต่งปากหม้อ ขยายตัวหม้อให้ได้ขนาดที่ต้องการแล้วพักดินให้แห้งเล็กน้อย หลังจากนั้นใช้ไม้ตีราบขึ้นหม้อให้ได้รูปทรง จัดแต่งผิวหม้อให้เรียบ แล้วพักหม้อเพื่อรอการเผา เผาหม้อ โดยหม้อที่เผาเสร็จแล้วจะมีสีส้มอ่อน พร้อมใช้
จากกระบวนการการทำหม้อที่ต้องอาศัยทักษะ ความชำนาญและระยะเวลาในการผลิต ส่งผลให้ปัจจุบัุนบ้านหม้อเหลือผู้ผลิตหม้อเพียงสิบกว่าราย และขาดคนรุ่นใหม่มาสานต่อการอนุรักษ์ภูมิปัญญา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามจึงสนใจสืบสานภูมิปัญญาการทำหม้อ พัฒนากลุ่มผู้ประกอบการให้มีทักษะ และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตลอดจนถ่ายทอดสู่นวัตกรคนรุ่นใหม่และคนคืนถิ่น ให้เป็นกลุ่มคนสำคัญ
การลงพื้นที่ของโครงการบริหารชุดโครงการฯ ได้พบกับภาคีเครือข่ายสำคัญ ทั้งกลุ่มผู้ปั้นหม้อ เยาวชนคนรุ่นใหม่ คนคืนถิ่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนท่านเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส ที่มีความเข้มแข็งและเป็นแกนนำสำคัญในการอนุรักษ์การตีหม้อ และทำให้เราได้เห็นว่าหม้อนั้นสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย
การร่วมสร้างความเข้มแข็งอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านหม้อ จะนำพาไปสู่ "การต่อลมหายใจสุดท้ายให้ชุมชนคนตีหม้อ" อย่างที่ทีมวิจัยและชุมชนตั้งใจ