Icon
PMU ทุนทางวัฒนธรรม

วันที่ 9 ธันวาคม 2565 คณะวิจัยทีมกลางได้มีโอกาสลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ และติดตามความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนโครงการสืบสานคุณค่า “ผ้าพื้นถิ่นยะรังวิถี” สู่ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายมุสลิมเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ครั้งที่ 2 ภายหลังจากนักวิจัยได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการมาช่วงระยะเวลาราว 8 เดือน พบว่า อัตลักษณ์แห่ง "ยะรังวิถี" มีความเด่นชัดมากขึ้นจากการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน นอกจากยะรัง จะเป็นนครโบราณที่เป็นศูนย์กลางอารยธรรมลังกาสุกะอันเป็นความภาคภูมิใจของคนในพื้นที่แล้ว ยังมีส่วนหล่อหลอมให้คนยะรังมีคุณลักษณะของ "ความเป็นผู้ดีเก่า" อันเนื่องมาจากความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจจากการเป็นเมืองท่าที่สำคัญในยุคอดีตอีกด้วย ทั้งนี้ นักวิจัยได้ดึงอัตลักษณ์ของพื้นที่ ทั้งการใช้ภาษา วิธีคิด ภูมิปัญญา และคุณค่าที่ชุมชนยึดถือร่วมกันว่าเป็นยะรังวิถี อาทิ ส้มโอปูโก สะพานสลิงบ้านยือแร ลูกหยีจากบ้านดงลูกหยี ล้วนเป็นรากเหง้าที่สะท้อนตัวตนของชาวยะรัง จ.ปัตตานี ช่วงระยะเวลาดำเนินการวิจัย มหาวิทยาลัยได้เริ่มต้นจากการพูดคุย พัฒนา และออกแบบลายผ้าภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม จำนวน 4 ลาย ได้แก่ (1) ลายยะรังอารยะ (2) ลายยือแรมหานที (3) ลายเมาะมาวีพิสุทธ์ และ (4) ลายดอกระแว้ง โดยสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบให้ชุมชนเห็นคุณค่าและโอกาสทางเศรษฐกิจจากลวดลายที่ใช้ข้อมูลทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่สามารถนำมาสร้างสรรค์ โดยดำเนินการพร้อมกับการค้นหาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่สามารถนำสู่การประยุกต์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนมากขึ้น ทั้งนี้ การสร้างแรงบันดาลใจจากลวดลายผ้า ส่งผลให้มหาวิทยาลัยสามารถรวบรวมวิสาหกิจชุมชนจำนวนถึง 12 กลุ่ม ที่ผนึกกำลังจะเป็นพลังขับเคลื่อนในการสร้างสรรค์ ฟื้นฟู และเปิดพื้นที่ให้ยะรังวิถีได้สร้างความยิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยมหาวิทยาลัยฟาฏอนี พร้อมที่จะใช้องค์ความรู้และเครือข่ายที่เข้มแข็ง หนุนเสริมการยกระดับคุณค่าของพื้นที่สู่มูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสูง และเชื่อมต่อสู่โลกอาหรับได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคต