18 พค.66 "ลำเหมืองที่หายไป ว่าด้ายการพลิกฟื้นและจัดการทุนทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากสายน้ำ" ด้วยน้ำคือชีวิต น้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญ เป็น"ชัยมงคล"ในการเลือกที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ของพญามังราย น้ำในระบบนิเวศธรรมชาติได้รับการจัดสรรแบ่งปันผ่านระบบเหมืองฝาย สู่ไร่นาเพื่อการผลิตอาหาร เมื่อวิถีวัฒนธรรมในสังคมเกษตรกรรมค่อยๆลดน้อยถอยลง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้หยิบยกประเด็น "ลำเหมืองที่หายไป" เป็นเส้นเรื่องในการจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อพลิกฟื้นสายน้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์และเป็นคุณต่อเมืองเชียงใหม่ ให้เมืองกลับมาชุ่มเย็น ผลการสืบค้นทุนทางวัฒนธรรมผ่านแผนที่วัฒนธรรม (Cultural Mapping) พบประเด็นสำคัญ ได้แก่ ประเพณี "การล่องสะเปา" เพื่อบูชาสายน้ำ ที่พ่อหลวงอานนท์ แห่งศูนย์การเรียนรู้สลีปิงจัย บ้านสันทรายต้นกอก ยังคงสืบสานไว้ /พบการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่บริเวณหนองบัว (ชัยมงคลที่หายไป) ที่ยังคงรักษาวิถีวัฒนธรรมได้ดีผ่านงานบุญประเพณี เช่น ปอยส่างลอง การแต่งกาย อาหาร ฯลฯ ซึ่งความเข้มแข็งนี้จะมีส่วนช่วยพลิกฟื้นความทรงจำหรือการมีอยู่ของหนองบัวได้อย่างไร? /พบ"น้ำหนัง" อาหารในวิถีวัฒนธรรมไทเขิน ชุมชนนันทาราม ทำจากหนังควาย ทำให้เชื่อมโยงไปถึงวิถีชีวิตในสังคมเกษตรกรรม ว่าคนล้านนาใช้ควายทำนา ก่อนที่จะใช้วัวที่ซื้อขายจากเมืองมะละแหม่งเมื่อ100 กว่าปีที่แล้ว ..เชื่อมโยงต่อไปได้ไกลถึง "ลัวะ" คนพื้นถิ่นที่มีพิธีกรรมเลี้ยงปู่แสะ-ย่าแสะ ด้วยควาย /พบการจัดการน้ำระบบเหมืองฝายและพิธีกรรมเลี้ยงผีที่ฝายพญาคำ ที่หล่อเลี้ยงไร่นาจากแม่น้ำปิงออกไปได้ไกลถึงเมืองลำพูน/ พบภูมิปัญญาในการจัดการน้ำของเวียงเจ็ดลิน เวียงทรงกลมเชิงดอยสุเทพ ที่จะนำมาสู่การเป็นโครงการพิเศษผ่านสภากาแฟเวียงเจ็ดลิน...นี่เพิ่งเริ่มต้นไม่ถึง 3 เดือน นักวิจัยค้นพบและสกัดทุนวัฒนธรรมได้อย่างน่าประทับใจ ...โปรดติดตามตอนต่อไปว่า ทำอย่างไร? ลำเหมืองจะไม่หายไปจากเมืองเชียงใหม่ ผ่านงานวิจัยนี้