Icon
PMU ทุนทางวัฒนธรรม


เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง และนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดโครงการ Hackathon: Isan Culture Re-creation ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลทางวัฒนธรรม ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนโดย กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 4 กุมภาพันธ์ 2567 ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์จารุณีย์ นิมิตศิริวัฒน์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พลเดช เชาวรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และพันธกิจสากล หัวหน้าโครงการฯและทีมนักวิจัย ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการฯพร้อมทั้งชี้แจ้งรายละเอียดกิจกรรม ทบทวนเนื้อหา และแนะนำเมนเทอร์ จำนวน 15 คน

ภายในพิธีเปิดงานผู้เข้าร่วมโครงการฯรับฟังการบรรยายจากวิทยากรระดับประเทศ ในหัวข้อเรื่อง "Story Doing" โดย อาจารย์ยิ่งพงษ์ มั่นทรัพย์ รับฟังการบรรยายในหัวข้อเรื่อง "Viability" โดย อาจารย์สุธาศิณี สุศิวะ รับฟังการบรรยาย ในหัวข้อเรื่อง "Desirability" โดย อาจารย์จุฑามาศ วัฒนพานิช  รับฟังการบรรยาย ในหัวข้อเรื่อง "Feasibility" โดย อาจารย์มนัสวี แก่นอำพรพันธ์ และรับฟังคำแนะนำการ Pitching โดย อาจารย์อมฤต สมพงษ์ จากนั้นผู้เข้าร่วมโครงการฯได้ระดมความคิดและสร้างสรรค์ผลงาน โดยมีเมนเทอร์คอยให้คำปรึกษา

สำหรับโครงการ Hackathon: Isan Culture Re-creation จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนคนรุ่นใหม่จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ  ได้แสดงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ในการนำทุนทางวัฒนธรรมอีสานไปสู่การสร้างสรรค์ใหม่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้วัฒนธรรมอีสานได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ เกิดการสำนึกรักและการสืบสานต่อยอดต่อไป เริ่มเปิดรับสมัครผลงานตั้งแต่วันที่ 1-22 ธันวาคม 2566 โดยมีทีมสมัครเข้าร่วมโครงการฯกว่า 89 ทีม ซึ่งผ่านการคัดเลือกเข้าและเข้าร่วมกิจกรรม Boot camp จำนวน 30 ทีม

ผลการแข่งขัน โครงการ Hackathon: Isan Culture Re-creation  ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Sadzone ชื่อผลงาน : E-san specter จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท  

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1  ได้แก่ ทีม นกบิน ชื่อผลงาน : วัดนกออก  จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  ได้แก่ ทีม Gaming Role ชื่อผลงาน : E-san Traveler จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท

รางวัล Best pitching ได้แก่ ทีม Cuedtatie Dyc ชื่อผลงาน : ผ้าย้อมดินเขาเควสต้า จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้รับเงินรางวัล 2,000 บาท

รางวัล Best marketing ได้แก่ Noah Fish ชื่อผลงาน : NOAH FISH Cracker “แครกเกอร์ข้าวกล้องหอมมะลิเสริมโปรตีนจากน้ำสกัดเพปไทด์และ กรดอะมิโนจากปลาร้า” จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับเงินรางวัล 2,000 บาท

รางวัล  Popular Vote ได้แก่ ทีม ภูติไทบ้าน  ชื่อผลงาน : แอพพลิเคชั่นแปลภาษาถิ่น (4ภาค) จากโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ได้รับเงินรางวัล 2,000 บาท