กระตั้วแทงเสือ เดิมเป็นการแสดงชั้นสูงที่จัดแสดงขึ้นในวัง เรียกว่า “กระอั้วแทงควาย” ต่อมาพัฒนามาเป็นเนื้อเรื่องดังปัจจุบัน เนื้อเรื่องคือ มีฝูงเสือเข้ามาอาละวาดในเมือง บ้องตัน ตัวเอกของเรื่อง พร้อมภรรยาและบุตร ออกล่าเสือ ตามที่เจ้าเมืองประกาศหาผู้ปราบฝูงเสือที่เข้ามารังควานชาวเมือง บ้องตัน และครอบครัวต้องต่อสู้ กับฝูงเสือ ทีละตัว ๆ เรียกความสนุกสนานของผู้ชม มาจากการแสดงออกของตัวแสดงที่หลากหลาย และมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว แตกต่างกันทั้งท่วงท่า ลีลา และการแต่งตัวล้อเลียน มีทั้งหนุ่ม ๆ ที่แสดงความแข็งแรง ความยืดหยุ่น และความน่ารักของเด็ก ๆ อีกทั้งยังมีดนตรีประกอบที่เร้าใจ สนุกสนาน มีสำเนียงจากเครื่องดนตรีทางภาคใต้สอดแทรก ทำให้เกิดความตื่นเต้น สนุกสนาน และเพลิดเพลิน เป็นอย่างยิ่ง
กระตั้วแทงเสือ ศิษย์หลวงปู่ผาด วัดบางสะแกนอก ก่อตั้งขึ้นมานานแล้ว โดยมีเยาวชนลูกหลานขาวชุมชน ตั้งแต่วัดบางสะแกนอก ตลาดพลู วัดโพธิ์นิมิตร วัดกัลยาณมิตร รวมตัวกันสืบสานวัฒนธรรมนี้ การแสดงกระตั้วแทงเสือในอดีตจะหาดูได้ในงานเทศกาลสำคัญประจำปีของวัดต่าง ๆ เท่านั้น เมื่อถึงวันงาน เด็ก ๆ และชาวบ้านจะมายืนรอริมถนนคอยชมขบวนแห่ เช่น งานแห่พระที่ผู้คนนิยมเคารพบูชา ขบวนแห่สงกรานต์ประจำปีของวัดแต่ละวัด ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวบ้านรวมตัวกันตั้งใจจัดขึ้นซึ่งดูเหมือนจะแข่งขันกันในเรื่องความงดงามสนุกสนาน ปัจจุบัน การแสดงกระตั้วแทงเสือหาชมได้ยาก จะมีแสดงเฉพาะในงานมงคล งานบวช แถวย่านที่คณะของวัดนั้น ๆ ยังคงสืบสานอยู่ ปัจจุบันในย่านฝั่งธนบุรี คงเหลือคณะกระตั้วอยู่ไม่ถึง 30 คณะ (ไพสาล สุวรรรชัย, 2565)
ช่องทางการจำหน่าย
https://www.facebook.com/profile.php?id=100078869505329
เข้าชม : 177 ครั้ง